“คิดถึงภราดร”

Written by LTAT Admin

“คิดถึงภราดร”

คอลัมน์ : คุยนอกคอร์ต
“คิดถึงภราดร”

“ความปลื้มปิติในชีวิตของ ภราดร ศรีชาพันธุ์ คือการมีโอกาสเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ถึง 2 ครั้ง ทำให้เขามีแรงใจ และพัฒนาผลงานจนสามารถก้าวสู่มืออันดับ 9 ของโลก” ******************************

ย้อนเวลากลับไปช่วงที่ “บอล” ภราดร ศรีชาพันธุ์ เจ้าของฉายา “ซูเปอร์บอล” นักหวดหนุ่มเมืองหมอแคน จ.ขอนแก่น ได้สร้างปรากฏการณ์ “ภราดรฟีเวอร์” เมื่อประมาณ 15-18 ปีที่ผ่านมา ภาพที่ได้เห็นตอนนั้นคือเด็กและเยาวชนหันมาสนใจกีฬาเทนนิสกันอย่างหนาตา ชนิดที่แย่งกันสมัครเรียนและสมัครแข่ง ขณะที่ผู้ใหญ่อีกจำนวนไม่น้อยก็เปิดใจให้กับกีฬาชนิดนี้กันมากขึ้น

วันไหนที่ภราดรลงแข่ง แฟนกีฬาเทนนิสไม่เฉพาะแค่คนไทย แต่ยังมีชาวเอเชียอีกจำนวนมาก ที่ใจจดจ่อรอดูภราดรลงแข่ง ขณะที่สื่อมวลชนเองก็ให้ความสนใจอย่างต่อเนื่อง ภราดรเดินทางกลับเมืองไทยเมื่อไหร่ จะดึกแค่ไหนก็ไปรอสัมภาษณ์ที่สนามบิน โดยขณะนั้นมี “ยอดคุณพ่อ” คุณพ่อชนะชัย ศรีชาพันธุ์ ในฐานะโค้ชส่วนตัว ที่มีส่วนในความสำเร็จของภราดรอย่างมาก ร่วมเดินทางกลับมาด้วย

เพราะ “ภราดรคือความภาคภูมิใจของคนไทย” เป็นขวัญใจของพี่น้องชาวไทย ไม่ได้สร้างชื่อเสียงแค่ผลงาน แต่ยังนำเอกลักษณ์ไทยไปเผยแพร่ “ภราดรยกมือไหว้ผู้ชมรอบสนามทั้ง 4 ทิศ” จนบางครั้งก็มีชาวต่างชาติไหว้กลับ เป็นความน่ารักไปอีกแบบ และเป็นที่จดจำ

ภราดรเริ่มเล่นเทนนิสในระดับอาชีพ ปี 2540 และในรายการเอทีพี ปี 2541 มีผลงานสะท้านโลกเป็นที่ประจักษ์มากมาย ทั้งได้แชมป์ และเอาชนะนักหวดชื่อดังในยุคนั้น อังเดร อากัสซี, เลย์ตัน ฮิววิตต์, แอนดี ร็อดดิค และ ราฟาเอล นาดาล นอกจากนี้ภราดรยังทะลุเข้าถึงรอบ 16 คนสุดท้ายแกรนด์สแลม 3 รายการ และขยับขึ้นเป็นมืออันดับ 9 ของโลก ในปี 2546 ภราดรได้รางวัลพัฒนาการยอดเยี่ยม ของ เอทีพี ปี 2545 และได้รางวัลผู้มีน้ำใจนักกีฬายอดเยี่ยม ของ เอทีพี ปี 2545-2546 ก่อนที่ภราดรจะประกาศแขวนแร็กเก็ตอย่างเป็นทางการ ในปี 2553

สำหรับผลงานของ ภราดร นั้น ได้แชมป์อาชีพในรายการของเอทีพี ทัวร์ รายการแรกที่ลองไอร์แลนด์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เดือนสิงหาคม ค.ศ.2002 จากนั้นเดือนตุลาคมปีเดียวกัน ได้แชมป์เอทีพี ทัวร์ รายการที่สอง ที่กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ต่อมาปี 2003 ประเดิมศักราชใหม่ด้วยการคว้าแชมป์เอทีพี ทัวร์ ที่เมืองเชนไน ประเทศอินเดีย ก่อนที่เดือนสิงหาคมจะป้องกันแชมป์ที่ลอง ไอร์แลนด์ เอาไว้ได้ ขณะที่ต้นปี 2004 ได้แชมป์ที่น็อตติงแฮม ประเทศอังกฤษ ส่วนผลงานในรายการแกรนด์สแลม เข้าถึงรอบ 4 หรือรอบ 16 คนสุดท้าย ทั้งใน วิมเบิลดัน 2003, ยูเอส โอเพ่น 2003 และออสเตรเลียน โอเพ่น 2004

ความปลื้มปิติในชีวิตของ ภราดร ศรีชาพันธุ์ คือการมีโอกาสได้ฟังรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร “กษัตริย์นักกีฬา” โดยเลขาธิการในพระองค์เป็นผู้แทนโทรศัพท์มาในระหว่างการแข่งขันว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานพระกระแสรับสั่งมาให้กำลังใจ และทรงพระราชทานพระวโรกาสให้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถึง 2 ครั้ง ทำให้ภราดรมีแรงใจ และพัฒนาผลงานจนสามารถก้าวสู่มืออันดับ 9 ของโลก

นักเทนนิสขวัญใจชาวไทย เล่าว่า ในวิมเบิลดัน 2003 รอบสอง ซึ่งพบกับนักเทนนิสจากฝรั่งเศส ตนพ่ายไปก่อน 2 เซต แล้วฝนตกลงมา ทำให้เกมชะงัก จากนั้นผู้จัดการแข่งขันได้ประกาศว่าขอให้ ภราดร ศรีชาพันธุ์ ไปติดต่อที่ออฟฟิศทัวร์นาเมนต์ และส่งเจ้าหน้าที่เดินมาตามให้ไปรับโทรศัพท์ พร้อมแจ้งให้ทราบเป็นภาษาอังกฤษว่า “The King Call You” ทันทีที่ได้ยินก็ตกใจมาก และรีบวิ่งไปรับโทรศัพท์ให้เร็วที่สุด

“เมื่อยกหูโทรศัพท์แล้วรับสาย เป็นเสียงของราชเลขาธิการที่โทรจากสำนักราชเลขาธิการพระบรมมหาราชวัง เรียกชื่อภราดรและบอกว่า ผมเป็นเลขาธิการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์ทอดพระเนตรอยู่ พระองค์ทรงให้โทรศัพท์มาให้กำลังใจ ทรงฝากพระราชกระแสรับสั่งว่า ให้สู้นะ ตั้งใจนะ ผมตอบไปอย่างตื่นเต้น ขอบคุณครับ และจะทำตามที่มีพระกระแสรับสั่ง จะทำให้ดีที่สุด”

หลังจากนั้น ภราดร ซึ่งเหมือนมีพลังและกำลังใจอันเต็มเปี่ยม รวบรวมพละกำลังที่มีจนสามารถเอาชนะได้ 3 เซตรวด ทำให้พลิกสถานการณ์จากที่เป็นรองโดนนำ 2 เซต กลายเป็นผู้ชนะไปในที่สุด ด้วยสกอร์ 3-2 เซต 4-6, 1-6, 7-6 (7-4), 7-5 และ 7-5 โดยภราดรทำผลงานได้ดีที่สุดในรายการวิมเบิลดันปีนั้น เข้าถึงรอบ 16 คนสุดท้าย ก่อนแพ้ แอนดี ร็อดดิก ชาวอเมริกัน 1-3 เซต 4-6, 6-3, 3-6 และ 2-6

ภราดร เล่าว่า ได้รับพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้เข้าเฝ้าฯ ถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกเข้าเฝ้าฯ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เป็นช่วงเวลาหลังจากที่ได้แชมป์รายการทีดี วอเตอร์เฮาส์ ที่ลองไอส์แลนด์ และรายการสตอกโฮล์ม โอเพ่น ในปี 2545 ตนได้ทูลเกล้าฯ ถวายถ้วยรางวัลทีดี วอเตอร์เฮาส์ ซึ่งเป็นถ้วยในระดับเอทีพี ทัวร์ ใบแรกในอาชีพ พระองค์มีพระราชดำรัสว่า “เก่งมาก มีความสามารถด้านกีฬา เราจะเก็บถ้วยใบนี้ไว้ให้แขกบ้านแขกเมืองได้ดู” นอกจากนี้พระองค์ยังได้ตรัสว่า พ่อแม่ (นายชนะชัย-นางอุบล ศรีชาพันธุ์) เลี้ยงลูกได้เก่งมาก และยังพระราชทานข้อคิด 2 เรื่อง คือ “รู้กีฬา ต้องรู้ให้จริง” อีกเรื่องเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ “น้ำใจนักกีฬา” พระองค์ทรงพระราชทานเหรียญพระมหาชนกให้ด้วย อันเป็นสัญลักษณ์ตัวแทนของความเพียรและความสำเร็จ

ในการเข้าเฝ้าฯ ครั้งนั้น นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตนายกสมาคมกีฬาลอนเทนนิสแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และปัจจุบันดำรงตำแหน่ง นายกกิตติมศักดิ์สมาคมกีฬาลอนเทนนิสแห่งประเทศไทยฯ เป็นผู้ประสานไปยังสำนักพระราชวัง นำภราดรและคณะเข้าไปกราบเบื้องพระยุคลบาท

พระราชกระแสที่ภราดรรู้สึกตื้นตันใจมากที่สุดคือ ตอนที่พระองค์มีพระราชกระแสรับสั่งกับ นายสุวัจน์ ในขณะนั้นว่า “สุวัจน์ ดูแลภราดรให้ดี ภราดร เป็นสมบัติของชาติ” ซึ่งภราดรยังจำช่วงเวลานั้นได้ดีจนทุกวันนี้

และครั้งที่สองเข้าเฝ้าฯ ณ วังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ หลังจากที่ ภราดร สามารถป้องกันแชมป์ที่ลองไอส์แลนด์ได้อีกสมัย พร้อมทั้งก้าวขึ้นไปเป็นมืออันดับ 9 ของโลก ครั้งนี้ภราดรได้มีโอกาสทูลเกล้าฯ ถวายถ้วยรางวัลเช่นเคย พระองค์มีพระราชประสงค์ให้ภราดรเก็บไว้เอง ภราดรและครอบครัว จึงนำไปเก็บไว้ที่บ้านเกิด จ.ขอนแก่น นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้น และสร้างความปลาบปลื้มใจให้ภราดรและครอบครัวเป็นอย่างมากที่ได้รับพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้เข้าเฝ้าฯ รวมถึงการที่พระองค์สนพระราชหฤทัยการแข่งขันเทนนิสของภราดรด้วย

กว่าจะประสบความสำเร็จ ภราดร ย้อนอดีตให้ฟังอีกว่า “สมัยที่เล่นเทนนิส ซ้อมหนักมาก ซ้อมทั้งวัน คือหลังจากเรียนจบชั้น ปวช. ผมก็พักเรื่องเรียนแล้วมาซ้อมเทนนิสเป็นหลักเลย ซ้อมเทนนิสนี่ต้องกลางแดด ต้องวิ่ง ต้องใช้แรงเยอะๆ ใช้พลัง ผมตั้งใจว่าจะเทิร์นโปรก่อนแล้วค่อยกลับไปเรียนมหาวิทยาลัย แต่โชคดีบวกกับความตั้งใจ รวมถึงแรงผลักดันต่างๆ และเป้าหมายที่ตั้งไว้ ทำให้ก้าวไปไกลกว่าเป้าหมาย ตอนที่เล่น ผลงานหรืออันดับโลกบางปีก็ดีขึ้น บางปีคงที่ บางปีก็ตก เป็นวัฏจักรของการสะสมคะแนน ตอนนั้นมีช่วง 5 ปี ที่พีคมาก จากมืออันดับ 125 ของโลก สามารถไต่ขึ้นไปถึงอันดับ 16 ของโลก แล้วก็พยายามจนสามารถทำได้สูงสุดที่อันดับ 9 ของโลก” ภราดร กล่าว

ผลงานมากมายที่ภราดรสร้างไว้ ทำให้กองเชียร์ชาวไทยหัวใจพองโตมาจนถึงทุกวันนี้ ทั้งการเล่นอาชีพและในนามทีมชาติไทย โดยเฉพาะเหรียญทอง ประเภทชายคู่ (ภราดรคู่กับพี่ชาย “บิ๊ก” นราธร ศรีชาพันธุ์) กีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 ที่ประเทศไทย ปี 2541 และเหรียญทอง ประเภทชายเดี่ยว กีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 14 ที่เมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ รวมถึง เหรียญทอง ประเภทชายเดี่ยว ซีเกมส์ ครั้งที่ 19 ที่อินโดนีเซีย, 3 เหรียญทอง ซีเกมส์ ครั้งที่ 20 ที่บรูไน และพาทีมชาติไทยได้แชมป์ เดวิส คัพ โซนเอเชีย/โอเชียเนีย และในปี 2547 ภราดรยังได้เป็นตัวแทนของประเทศไทยในการถือธงชาติในกีฬาโอลิมปิก ที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ด้วย

ปัจจุบัน ภราดร ผันตัวเองมาทำธุรกิจส่วนตัว รวมถึงเป็นผู้ฝึกสอน เปิดอะคาเดมี่ นานาชาติ “ทรู อารีนา-ภราดร อินเตอร์เนชั่นแนล เทนนิส อะคาเดมี” อยู่ที่ ทรู อารีน่า หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ รวมทั้งรับบทเป็นผู้อำนวยการจัดการแข่งขันเทนนิสหลายรายการ และมีครอบครัวที่น่ารัก มีลูกสาวชื่อ “น้องเฌอลีน” ล่าสุดก็มีข่าวดีเมื่อเร็วๆ นี้ว่า เฌอลีนจะได้เป็นพี่สาวแล้ว

“ผมเลือกที่จะเป็นโค้ชให้นักเทนนิสที่มีความตั้งใจและมุ่งมั่นกับการฝึกซ้อม สิ่งสำคัญเขาต้องอยากที่จะก้าวไปสู่ความสำเร็จในการเป็นนักเทนนิสอาชีพจริงๆ สำหรับเทนนิสเป็นกีฬาที่ต้องใช้เวลา จะมีไม่กี่คนที่อาจจะก้าวขึ้นมาด้วยพรสวรรค์ แต่พรสวรรค์ก็ไม่สามารถพาไปสู่ความสำเร็จได้หากไม่มีพรแสวง อย่างผมเอง ผ่านความล้มเหลว ความผิดหวังมาแล้ว ผมกับคุณพ่อต้องไปเรียนรู้ หาประสบการณ์ และลองผิดลองถูกกันมานานกว่าจะประสบความสำเร็จ” ภราดร กล่าว

หลังรับบทโค้ชอยู่หลายปี ภราดรก็มีผลงานจากความสำเร็จของลูกศิษย์ เมื่อ “สอง” ยุทธนา เจริญผล นักหวดวัย 20 ปี จากอ่างทอง สามารถคว้าแชมป์เทนนิสอาชีพ “หัวหิน โอเพ่น 2020” รายการสะสมคะแนนสู่รอบมาสเตอร์ส (รายการที่ 2) ช่วงปลายปี

มุมมองของภราดรกับนักเทนนิสไทยในปัจจุบัน หากต้องการประสบความสำเร็จ ภราดรแนะนำว่า ต้องมีวินัย มีความมุ่งมั่นมากกว่านี้ มีเป้าหมายที่ชัดเจน และที่สำคัญ ต้องรู้ตัวเองด้วยว่าต้องการเป็นนักเทนนิสอาชีพจริงๆ หรือไม่ และหากต้องการ ก็ต้องปฏิบัติตนเป็นนักเทนนิสอาชีพจริงๆ

นั่นคือเรื่องราวของตำนานเทนนิสเมืองไทย “ซูเปอร์บอล” ภราดร ศรีชาพันธุ์ ผู้เป็นต้นแบบของเด็กและเยาวชนทั้งหลายที่ต้องการแสวงหาความสำเร็จ และสร้างผลงานบนเวทีกีฬาลูกสักหลาด แม้ต้องใช้เวลาในการสร้าง “ภราดร 2” นานสักหน่อย แต่ถ้าทำสำเร็จก็ถือว่าคุ้มค่า และเชื่อว่า “ภราดร 1” จะดีใจไม่น้อยที่เขาได้มีส่วนร่วมในการสร้าง ในฐานะต้นแบบที่สมบูรณ์และสง่างามที่สุด

ขอบคุณข้อมูลจาก ภราดร ศรีชาพันธุ์ /ทีมข่าวกีฬา นสพ.คมชัดลึก / wikipedia /
สำนักข่าวไทย

ขอบคุณภาพจาก สนุกดอทคอม https://www.sanook.com/sport/900311/gallery/841667/#เทนนิส#กีฬาเทนนิส#สมาคมกีฬาลอนเทนนิส#Tennis#ลูกสักหลาด#ตำนานเทนนิส#ภราดรศรีชาพันธุ์#ศรีชาพันธุ์#ParadornSrichaphan#ซูเปอร์บอล#ฮีโร่#ขวัญใจชาวไทย#สมาคมกีฬาลอนเทนนิสแห่งประเทศไทย

LTAT