“ในวันที่ ลักษิกา คิดถึงเทนนิสจับใจ”

Written by LTAT Admin

“ในวันที่ ลักษิกา คิดถึงเทนนิสจับใจ”

“ในวันที่ ลักษิกา คิดถึงเทนนิสจับใจ”

เป็นระยะเวลารวมกว่า 500 วัน หรือกว่า 1 ปีครึ่ง ที่ “ลัก” ลักษิกา คำขำ นักหวดหญิงขวัญใจชาวไทย ได้หายหน้าหายตาไปจากสารระบบของการแข่งขันเทนนิสอาชีพ

ก่อนหน้านี้เป็นที่ทราบกันดีว่า “ลัก” ถูกจับตามอง และคาดการณ์ว่าจะก้าวขึ้นมาเป็นความหวังใหม่ของวงการลูกสักหลาดไทย หลังจากที่สร้างชื่อในเวทีระดับอาชีพ จนครั้งหนึ่งเคยขึ้นไปรั้งมืออันดับ 66 ของโลกมาแล้ว ทั้งด้วยผลงานการคว้าแชมป์ดับเบิลยูทีเอ 125 เค ซีรีส์ 2 รายการ (ไทเป โออีซี โอเพ่น และมุมไบ โอเพ่น ในปี 2561)

นอกจากนี้เธอยังได้เข้าร่วมในศึกแกรนด์สแลม 3 จาก 4 รายการ (ยกเว้น ยูเอส โอเพ่น) โดยเฉพาะในแกรนด์สแลมแรกของปี ออสเตรเลียน โอเพ่น ซึ่งเป็น 1 ในแกรนด์สแลมที่ ลักษิกา โปรดปราน และมักทำผลงานได้เยี่ยมยอดในทัวนาเมนต์ดังกล่าว รวมไปถึงความสำเร็จในนามทีมชาติ ที่ผนึกกำลังกับนักหวดรุ่นพี่ “แทมมี่” แทมมารีน ธนสุกาญจน์ ช่วยกันคว้าเหรียญทองหญิงคู่ เอเชียนเกมส์ 2014 ที่อินชอน ประเทศเกาหลีใต้ ทำให้ชื่อของ ลักษิกา เป็นที่พูดถึงในวงกว้างเพิ่มมากยิ่งขึ้น

ย้อนไปเมื่อช่วงกลางปี 2019 ในการแข่งขันแมตช์อาชีพที่ สตาร์สบูร์ก ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นทัวนาเมนต์เตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่การแข่งขันแกรนด์สแลม เฟรนช์ โอเพ่น โดยในช่วงการฝึกซ้อมระหว่างวัน ลักษิกา ได้พยายามลองปรับเทคนิคการเสิร์ฟ ด้วยการใช้เทคนิค “คิกเสิร์ฟ” ทว่าความพยายามในครั้งนั้น ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของอาการบาดเจ็บหนักที่ไหล่ขวา ทำให้ต้องพักรักษาตัวจวบจนถึงทุกวันนี้

“ลักไม่รู้ว่าจังหวะนั้นมันทำให้ฉีกขาดไหม แต่รู้สึกได้ถึงความเจ็บ ซึ่งตอนนั้นคิดว่าคงผิดท่า เพราะว่าเป็นมุมที่ลักไม่ค่อยได้ใช้งาน ตอนแรกคิดว่าไม่เป็นอะไรมาก พักแค่ 1-2 วันก็คงหาย แต่แล้วมันก็ไม่ดีขึ้น ซึ่งปกติถ้าไม่เป็นอะไร ใช้เวลา 1 อาทิตย์ในการพักฟื้นควรจะดีขึ้น ทำให้ตอนนั้นลักต้องฝืนเล่นจนจบ เฟรนช์ โอเพ่น” ลักษิกา เล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นอาการบาดเจ็บที่ไหล่ขวา…

ภายหลังจบ เฟรนช์ โอเพ่น ภารกิจต่อไปของ ลักษิกา คือแกรนด์สแลม ที่เก่าแก่สุดของโลก ศึกวิมเบิลดัน ซึ่งเป็น 1 ในรายการที่นักเทนนิสทุกคนใฝ่ฝันจะเข้าร่วมให้ได้ เช่นเดียวกับ ลักษิกา เองที่ไม่อยากจะทิ้งโอกาสนี้ไป แม้จะรู้อยู่แก่ใจดีว่าร่างกายของตัวเองไม่อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อหัวใจมันเรียกร้อง ก็ไม่มีอะไรมาหยุดได้ ท้ายที่สุดเจ้าตัวจึงตัดสินใจเดินทางไปแข่งขัน วิมเบิลดัน 2019 พร้อมกับอาการบาดเจ็บ ก่อนที่จะจอดป้ายเพียงแค่รอบแรกเท่านั้น…

หลังเสร็จสิ้นภารกิจในศึกวิมเบิลดัน ลักษิกา ตัดสินใจหยุดแข่งขัน และกลับมาพักรักษาตัวที่ไทย เพราะหวังที่จะกลับไปป้องกันแต้มในฐานะแชมป์ 2 รายการระดับ ดับเบิลยูทีเอ 125 เค ซีรีส์ ที่ไต้หวันและอินเดีย รวมถึงการรับใช้ชาติในศึกซีเกมส์ ครั้งที่ 30 ที่ประเทศฟิลิปปินส์ ในช่วงปลายปี ทว่าอาการบาดเจ็บในครั้งนี้ รุนแรงและส่งผลเสียเกินกว่าที่เจ้าตัวคิดไว้

“ช่วงที่กลับจากฝรั่งเศสมาอยู่ที่ไทย ตัดสินใจว่าจะไปเช็คร่างกายให้ละเอียดด้วยการทำ MRI เพราะเกรงว่าจะส่งผลกระทบในวิมเบิลดัน ตอนนั้นยังรู้สึกว่าพอที่จะเสิร์ฟได้ แต่ก็เจ็บอยู่บ้าง จึงตัดสินใจไปแข่งและฝืนเล่นจนจบวิมเบิลดัน สุดท้ายก็ไม่ไหว ทำให้พลาดการไปรักษาแต้มที่ไต้หวันและอินเดีย รวมถึงมีอาการเจ็บติดตัวตอนไปซีเกมส์ ทำให้ผลงานไม่เป็นไปตามเป้า” ลักษิกา เล่าย้อนถึงช่วงเวลาที่ตัดสินใจดังกล่าว

อาการบาดเจ็บที่บริเวณไหล่ขวาของ ลักษิกา ส่งผลรุนแรง และชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยเจ้าตัวไม่สามารถลงแข่งขันได้ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2020 หนึ่งในนั้นคือรายการ ไทยแลนด์ โอเพ่น ระดับดับเบิ้ลยูทีเอ อินเตอร์เนชั่นแนล ชิงเงินรางวัลรวม 275,000 ดอลลาร์สหรัฐ ที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งในรายการดังกล่าวนี้เอง ที่ทำให้แฟนเทนนิสชาวไทยเริ่มเกิดคำถาม เกี่ยวกับการหายไปของ ลักษิกา โดยเฉพาะ รศ.นพ. เมษัณฑ์ ปรมาธิกุล ศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ, การบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา ซึ่งเป็นแฟนเทนนิสตัวยง และติดตามผลงานของนักกีฬาไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดย “คุณหมอเมษัณฑ์” ได้เสนอแผนการรักษาให้กับนักเทนนิสหญิงเบอร์ 1 ของไทยในเวลานั้นด้วยการผ่าตัด

“บังเอิญว่าตอนมีแมตช์ ดับเบิลยูทีเอ ที่หัวหิน คุณหมอเมษัณฑ์ มีโอกาสได้เข้าไปชมการแข่งขันที่สนาม แต่เขาไม่เห็นรายชื่อลักเข้าร่วม จึงได้ถามฝ่ายจัด และติดต่อมาสอบถามอาการบาดเจ็บของลัก และเสนอให้ทำการผ่าตัด ประกอบกับคุณหมอเมษัณฑ์ ก็เป็นแฟนเทนนิสตัวยง เคยตามไปเชียร์นักกีฬาไทยตอนเอเชียนเกมส์ 2014 ที่เกาหลีใต้ ลักใช้เวลาตัดสินใจอยู่นาน จนในที่สุดจึงตัดสินใจที่จะผ่าตัดกับคุณหมอเมษัณฑ์ ในช่วงเดือนมีนาคม 2020 โดยเบื้องต้นคาดว่าจะใช้เวลาในการพักฟื้น ทำร่างกายราว 6 เดือน ก่อนจะกลับมาแข่งขันได้อีกครั้ง ” ลักษิกา กล่าว

การพักฟื้น นับเป็นหนึ่งในช่วงเวลาที่ยากที่สุดภายหลังได้รับการรักษา ซึ่งนอกจากจะต้องทนกับอาการเจ็บปวดหลังการผัดตัดแล้ว ตัวคนไข้ยังต้องมีวินัยที่เข้มข้น ในการทำกายภาพบำบัดเพื่อให้ร่างกายค่อยๆ ฟื้นตัวตามลำดับ รวมถึงสภาพจิตใจ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ ที่จะช่วยให้คนไข้มีกำลังใจในการฟื้นฟูสภาพร่างกาย ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องทำทั้ง 2 อย่างควบคู่ไปพร้อมๆ กัน เช่นเดียวกับ ลักษิกา ที่มีความมุ่งมั่นและตั้งใจดูแลร่างกายของตัวเองอย่างขะมักเขม้น ให้หายจากอาการบาดเจ็บ เพื่อกลับมาแข่งขันให้ได้เร็วที่สุด

“ช่วงแรก หลังจากที่ผ่าตัด ลักพยายามมองโลกในแง่ดี คิดว่าช่วงนี้เราก็พักฟื้นร่างกายไป เราทำถูกทางแล้ว ตัดสินใจถูกแล้วที่เลือกจะรักษาด้วยการผ่าตัด ดีกว่าปล่อยคาราคาซัง จะยิ่งเรื้อรังหนักกว่าเดิม แต่หลังจาก 6 เดือนผ่านไป ซึ่งเป็นกำหนดเวลาที่คิดว่าควรได้กลับมาตีแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้ ทั้งๆ ที่คิดว่าเราทำโปรแกรมร่างกายถูกต้องทุกอย่างแล้ว พอลองกลับมาตีได้สักพัก ก็มีอาการเจ็บส่วนอื่นเพิ่มขึ้นมาอีก ทั้งปวดบ่า, ปวดคอ, ปวดกล้ามเนื้อ เส้นประสาทตึงทำให้เหยียดแขนสุดไม่ได้ ไปจนถึงอาการบาดเจ็บเดิมที่ยังไม่หายขาด ซึ่งที่ผ่านมามันเป็นอุปสรรคในการตี จนต้องหยุดพักเพื่อรักษาต่อ ทำให้การฝึกซ้อมขาดความต่อเนื่อง โดยสิ่งเดียวที่ ลักทำได้ระหว่างนี้คือ ต้องดูแลร่างกายของตัวเองให้ดีขึ้น และมากขึ้นกว่าเดิม” ลักษิกา เผยถึงช่วงเวลาที่ยากลำบากในการพักฟื้นร่างกาย…

แม้มีเหตุการณ์ที่ทำให้สภาพจิตใจย่ำแย่ หรือเรื่องราวต่างๆ ที่เข้ามาบั่นทอนจิตใจ แต่ตัวของ ลักษิกา ก็ยังไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา ซึ่งแน่นอนว่าการร้างสนามไปนาน ย่อมทำให้เธอเกิดความรู้สึกคิดถึง และเฝ้ารอวันที่จะหวนคืนสู่คอร์ตอีกครั้ง

“ลักยังคิดภาพตัวเองตอนกลับไปแข่งในสนาม ลักไม่เคยคิดอยากจะเลิกเล่น มันเป็นแค่อารมณ์ ณ ช่วงเวลาหนึ่ง ที่เรารู้สึกว่าเราดูคนอื่นเขาแข่งก็อยากแข่งบ้าง อย่างช่วงนี้ดู ออสเตรเลียน โอเพ่น เราก็อดคิดเสียดายไม่ได้ว่าเราได้แต่นั่งดูคนอื่นแข่ง มา 2 ปีแล้ว อยากกลับไปแข่งใจจะขาด เพราะตอนนี้แรงกิ้งหลุดไปไกลแล้ว (อันดับ 749 โลก wta)ความรู้สึกตอนที่ได้กลับมาตีครั้งแรกหลังจากผ่าตัด มันมีความสุขมากเลย มันทำให้เราอยากตีอีก รู้สึกว่าเราอยากกลับมาแข่งให้ได้เร็วๆ แต่มันก็มีอย่างอื่นมาฉุดเรา กลายเป็นว่าเราต้องถอยกลับมานับ 1 ใหม่อีก มันก็รู้สึกเหนื่อยเหมือนกัน” นักหวดขวัญใจชาวไทย เผย

อย่างที่เกริ่นไปก่อนหน้านี้ว่า นอกจากวินัยในการดูแลร่างกายที่ต้องทำอย่างแข็งขันแล้ว อีกสิ่งหนึ่งสำคัญที่ควบคู่กันก็คือ สภาวะของจิตใจ ซึ่งลักษิกาเองพยายามปรับทั้งในเรื่องของมุมมองความคิด รวมถึงการเลือกรับพลังงานบวกจากคนใกล้ตัว

“ลักเริ่มจากมองคนใกล้ตัว ยกตัวอย่างแฟนของลัก ซึ่งเป็นนักกีฬา ก็เคยผ่าตัดและเคยผ่านจุดนี้มาเหมือนกัน ซึ่งในตอนนั้นเราก็ให้กำลังใจเขา โดยที่เราอาจจะยังไม่ได้รู้สึกอินมาก จนวันนี้เรามาเจอกับตัวจึงได้เข้าใจว่าเป็นเรื่องยากที่จะอธิบาย กลับกันในตอนนี้กลายเป็นตัวลักที่เป็นฝ่ายได้รับกำลังใจจากคนรอบตัว ขณะเดียวกัน ลัก พยายามนึกย้อนถึงภาพเก่า ในวันที่มีความสุขกับการเล่นเทนนิส คิดว่าเราเคยทำมันได้ รวมถึงมองโลกในแง่ดีว่า มีนักกีฬาหลายคนที่เคยบาดเจ็บหนัก แต่ก็ยังสามารถกลับมาเล่นได้อีกครั้ง ต่อให้จะต้องเจอปัญหามากมายแค่ไหน สุดท้ายแล้ว ลัก รู้ใจตัวเองว่ายังไงเราก็ยังไม่ยอมแพ้กับมันง่ายๆ ณ เวลานี้ ขอให้ไหล่หายเป็นปกติ สามารถกลับมาตีได้เหมือนเดิม ส่วนหลังจากนั้นอะไรจะเกิดขึ้นมันอยู่ที่ตัวเรา ลักไม่กดดันตัวเองว่าหากกลับไปต้องทำได้ดีเหมือนเดิม และไม่มีปัญหาที่จะต้องกลับไปเริ่มต้นแข่งขันในรายการระดับ 15,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ อีกครั้ง” ลักษิกา เผยถึงวิธีการจัดการกับความรู้สึกที่เข้ามาบั่นทอนจิตใจ…

บทสนทนาก่อนจาก ลักษิกายังได้เผยถึงเป้าหมาย ณ ตอนนี้ว่า อยากกลับมาให้ได้ภายในปีนี้ จะทำให้เต็มที่ ยืนยันว่าจะไม่ท้อ จะใช้ทุกความรู้สึกที่ได้เจอเป็นแรงผลักดัน หากผ่านไปได้ เหตุการณ์นี้น่าจะเป็นแรงผลักดันที่ดีได้ในอนาคต

“ขอบคุณทุกคนที่ยังถามถึงกัน ขอบคุณที่ยังจำกันได้ ขอบคุณที่เป็นกำลังใจที่ดีให้ลักเสมอมา มันทำให้ลักอยากกลับมาทำงานหนัก เพื่อมอบความสุขให้กับคนไทยต่อไป และสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศชาติมากขึ้นกว่าเดิม” นั่นคือความในใจของ ลักษิกา คำขำ ผู้ที่เคยมอบความสุขให้แฟนกีฬาชาวไทยมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน

LTAT