คุยนอกคอร์ต :เล่นเทนนิสด้วยพลังบวกสูตรลับความสำเร็จของ“แทมมี่”

Written by LTAT Admin

คุยนอกคอร์ต : เล่นเทนนิสด้วยพลังบวกสูตรลับความสำเร็จของ “แทมมี่”

Noting to Lose !!!
คำๆนี้มักจะได้ยินออกจากปากของ “แทมมี่” แทมมารีน ธนสุกาญจน์ อดีตนักเทนนิสมือ 19 ของโลก ขวัญใจชาวไทยทุกครั้งที่ถูกถามถึงเกมการเล่นที่วางแผนไว้ก่อนลงสนามแข่งขันทั้งในระดับอาชีพ และ ทีมชาติ noting to lose หรือ ไม่มีอะไรจะเสีย ที่ดูเหมือนว่าจะเป็นคำตอบแบบกว้างๆ ให้ดูเป็นกลางๆสื่อให้เห็นว่า เธอจะต้องลงแข่งเทนนิสอย่างเต็มที่…แบบไม่มีอะไรจะเสีย

แต่ใครจะคิดว่าคำว่า… noting to lose ของ แทมมี่ นั้นมีความหมายลึกซึ้งมากกว่าแค่การตอบคำถามแบบให้ผ่านๆไป แบบไม่ต้องคิดอะไรมาก

“แทมมี่เป็นคนที่จริงจังกับการลงแข่งขันในทุกๆครั้ง ไม่ว่าจะเจอกับคู่แข่งทั้งที่ฝีมือเหนือกว่าหรืออ่อนกว่า การที่ใช้คำว่า noting to lose แน่นอนว่าส่วนหนึ่งคือการบอกตัวเองว่า เราจะเล่นให้เต็มที่ เล่นแบบไม่มีอะไรจะเสีย แต่จริงๆแล้ว แทมมี่ ใช้คำนี้เป็น “พลังบวก” เพื่อกระตุ้นตัวเอง กดดันตัวเองให้ต้องทำให้ได้ ต้องสู้นะ ต้องทำให้ดีที่สุด ไม่ว่าผลการแข่งขันจะออกมาเป็นอย่างไรก็ตาม”

หากยังพอจำภาพของ แทมมี่ ในทุกครั้งที่ลงแข่ง ก็จะได้เห็นถึงแววตาแห่งความมุ่งมั่น จัดเต็ม ใส่พลังเกินร้อย มาตั้งแต่ครั้งยังเป็นเยาวชนจนพาเธอก้าวสู่การเข้าชิงชนะเลิศจูเนียร์ แกรนด์สแลม วิมเบิลดัน ซึ่งเป็นแมทช์ที่ทำให้ทั่วโลกรู้จักนักเทนนิสไทยที่ชื่อ “แทมมารีน ธนสุกาญจน์” หลังเอาชนะ แอนนา คูร์นิโคว่า จากรัสเซียในรอบรองชนะเลิศ ก่อนจะพลาดท่าแพ้ อเล็กซานดรา โอลส์ซา จากโปแลนด์ ในนัดชิงชนะเลิศ

จากนั้น แทมมารีนก็มาสร้างชื่อเสียงให้คนทั่วโลกได้รู้จักอย่างกว้างขวางอีกครั้งในระดับอาชีพ ด้วยการพลิกล็อคหวดเอาชนะ ซานดร้า รูบิน นักเทนนิสดาวรุ่งชาวอเมริกันในนัดแรกของ สนามอาร์เธอร์ แอช เซ็นเตอร์คอร์ตที่เพิ่งสร้างเสร็จใหม่ เพื่อเป็นเกียรติแก่อาร์เธอร์ แอช นักเทนนิสผิวสีชาวอเมริกันผู้เคยเป็นมือหนึ่งของโลกช่วงทศวรรษ 1970 ในการแข่งขันยูเอสโอเพ่น 1997 ได้ 6-4, 6-0 ซึ่งเป็นผลงานที่พลิกความคาดหมายและกลายเป็นข่าวใหญ่ เพราะชาวอเมริกันขณะนั้นคาดหมายกันว่า รูบิน นักเทนนิสผิวสีจะเป็นผู้คว้าชัยชนะเปิดสนามอาร์เธอร์ แอช นั่นเอง

ผลงานในแมทช์นั้นก็มาจากการเล่นแบบ “ไม่มีอะไรจะเสีย” ของ แทมมี่ ซึ่งรู้ดีว่าเป็นรองคู่ต่อสู้ และ การเล่นในเซ็นเตอร์คอร์ตรายการระดับแกรนด์สแลมที่มีถ่ายทอดสดไปทั่วโลกและได้รับความสนใจจากชาวอเมริกันเป็นอย่างมาก ถือเป็นการ “ปลุกพลัง” ให้สู้อย่างเต็มที่

จากนักเทนนิสที่เป็น”ม้านอกสายตา” ก็หลายมาเป็นนักเทนนิสอาชีพจากประเทศไทยที่ไม่มีใครกล้าประมาทได้อีกต่อไป

แทมมี่ แบ่งนิยามของคำว่า noting to lose ออกเป็น 3 ข้อ คือ
1.ต้องไม่กลัวที่จะแพ้ แต่ก็ไม่ได้กดดันหรือคาดหวังว่าจะต้องชนะเสมอไป แทมมี่ จะโฟกัสตรงจุดที่ว่าเมื่อเราเล่นแบบไม่มีอะไรจะเสียเพื่อที่จะเล่นให้ได้เต็มที่ เล่นให้เป็นตัวเราเป็นฟอร์มของเรามากที่สุด ถ้าเรากลัวที่จะแพ้ตั้งแต่แมทช์ยังไม่เริ่มก็จะทำให้เราเล่นไม่ได้ตามฟอร์มของตัวเอง
2.ไม่ประมาทคู่แข่งขัน ทุกๆครั้งที่ลงแข่ง แทมมี่ จะบอกตัวเองเสมอว่า คู่ต่อสู้ทุกๆคนมีฝีมือที่ดี แม้ว่าเราจะเคยชนะเขามาก่อน แต่ก็ใช่ว่าเราจะชนะเขาได้ตลอดไป คู่แข่งเองก็อาจจะกลับไปทำการบ้านแก้เกมเรามาก็ได้ เพื่อจะมาเอาชนะเรา ขณะที่ตัวเราเองยังต้องพัฒนาตัวเอง คู่ต่อสู้ก็เหมือนกัน เขาก็ซ้อมหนัก เขาก็อยากจะชนะเหมือนกัน และยิ่งการเจอคนที่เหนือกว่า เราก็ต้องทำการบ้านให้เยอะ ศึกษาเกมของคู่แข่งก่อนลงสนามเพื่อหาโอกาสให้ตัวเองในการแข่งขัน
3.ต้องกล้าหาญ เอาตัวเองเป็นมาตรฐาน noting to lose คือการกระตุ้นตัวเองให้มีความพร้อม กล้าเล่นในทุกสถานการณ์ โชว์ฟอร์มให้เต็มที่ แพ้ชนะว่ากันทีหลัง สนุกกับการเล่นให้มากที่สุด

“การเล่นเทนนิสก็เป็นศิลปะอย่างหนึ่งซึ่งเราสามารถจินตนาการ ออกแบบเองได้ว่าเราต้องการแบบไหน แล้วก็โฟกัสไปในจุดนั้น เล่นให้เต็มที่ แน่นอนว่าไม่มีใครอยากแพ้ แต่ก็ไม่มีใครลงแข่งแล้วจะชนะได้ตลอดไป เพราะฉะนั้น ถ้าเราเล่นเต็มที่แล้วผลออกมาแพ้ เราก็ยังรู้สึกภูมิใจว่าได้ทำหน้าที่เต็มที่แล้ว” แต่ เทนนิส คือกีฬาที่สุดจะท้าทาย เพราะเป็นกีฬาที่แข่งแบบ “น็อคเอาต์” แพ้คัดออก ทุกครั้งที่เดินออกจากสนามแข่งขันก็มีผู้ชนะ กับ ผู้แพ้ เท่านั้น

“เทนนิสทำให้เราได้ชาลเลนจ์ตัวเอง แม้ว่าจะแข่งเทนนิสมาตั้งแต่เด็ก เทิร์นโปรมาตั้งแต่ปี 2537 จนทุกวันนี้บอกตามตรงว่า แทมมี่ ก็ยังตื่นเต้นกับการลงสนามแข่งขัน ไม่ใช่เพราะกลัวแพ้ แต่ตื่นเต้นเพราะไม่รู้ว่าวันนี้เราจะเล่นได้ดีแค่ไหน คู่ต่อสู้จะเล่นอย่างไร บรรยากาศการแข่งขัน รวมถึงสภาพดินฟ้าอากาศ เป็นตัวแปรและปัจจัยให้เราต้องเตรียมพร้อมปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เจอให้ได้และเล่นให้ดีที่สุด”

ในช่วงระหว่างปี 2541-2545 แทมมี่ ผ่านช่วงเวลาที่นับว่าสร้างประวัติศาสตร์ให้วงการเทนนิสไทยในเวทีโลกมาหลายครั้งหลายครา โดยเฉพาะในการแข่งขันเทนนิสแกรนด์สแลม วิมเบิลดัน ซึ่งสามารถทะลุเข้าถึงรอบสี่ หรือ รอบ 16 คนสุดท้ายได้ตลอด ส่งผลให้สามารถก้าวขึ้นมาอยู่อันดับที่ 19 ของโลกได้ในปี 2545 ก่อนที่จะมาจับคู่ กับ มาเรีย ชาราโปวา และได้แชมป์ประเภทคู่ 2 รายการ ที่โตเกียว และลักเซมเบิร์ก ในปี 2546

ทว่าสิ่งที่กลายเป็นอุปสรรคจนทำให้ แทมมี่ คิดจะหันหลังให้กับกีฬาเทนนิส นั่นคือ อาการบาดเจ็บ ที่สร้างความท้อแท้อย่างหนักให้เธอในปี 2550 แต่ด้วยความที่มีคำว่า nothing to lose อยู่กับตัวเสมอนี่เอง ที่ทำให้ แทมมี่ มีพลังที่จะสู้อีกครั้งอย่างไม่รู้ตัว

“ปี 2550 เป็นปีที่แย่มากๆเล่นไม่ได้เลย ท้อมาก แข่งทีไรก็แพ้ แต่พอมาปี 2551 ในช่วงที่กลับไปเล่นที่วิมเบิลดัน แทมมี่ ก็คิดแค่ว่ามีโอกาสได้เล่นก็เล่นให้เต็มที่ เพราะไม่มีอะไรจะเสีย แพ้มาก็เยอะแล้วจะแพ้อีกคงไม่เป็นไร ตอนนั้นตั้งใจว่าถ้าวิมเบิลดันผลงานไม่ดีอีกก็จะเลิกเล่น แต่ปรากฏว่าผลงานกลับออกมาดี ชนะนัดแรกก็มีกำลังใจมากก็เล่นเต็มที่ในทุกแมทช์ สนุกและดีใจที่ชนะจนมาเข้าถึงรอบ 8 คนสุดท้าย แม้จะแพ้ตกรอบนี้แต่ก็ภูมิใจที่ตัวเองสู้ได้เต็มที่ ไม่ท้อและสนุกกับการเล่นมากๆ

” แทมมี่ เริ่มเล่นเทนนิสมาตั้งแต่อายุ 5 ขวบโดยการสนับสนุนจากคุณพ่อวีระชัย ธนสุกาญจน์ และ คุณแม่ สุเนตรา ธนสุกาญจน์ ผ่านการคว้าแชมป์เทนนิสอาชีพระดับ WTA มาแล้ว 4 รายการ คือ บังกาลอร์ โอเพ่น ที่ไฮเดอราบด,อินเดีย ปี 2550, ออร์ดิน่า โอเพ่น ที่เนเธอร์แลนด์ ปี 2551 และปี 2552, เอชพี โอเพ่น ที่โอซาก้า,ญี่ปุ่น ปี 2553 นอกจากนี้ยังคว้าแชมป์หญิงคู่ WTA อีก 8 รายการ, ผ่านการรับใช้ชาติไปแข่งขันเทนนิส โอลิมปิกเกมส์ ถึง 4 ครั้ง คือที่ลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา, ซิดนีย์ ออสเตรเลีย, เอเธนส์, กรีซ และปักกิ่ง, จีน

จากนั้นในปี 2555 เอเชียนเกมส์ ที่กวงโจ ประเทศจีน แทมมี่ ควงคู่ ลักษิกา คำขำ คว้าเหรียญทองหญิงคู่ได้สำเร็จ นอกจากนี้ยังลงแข่งขันรับใช้ชาติทั้งในศึกซีเกมส์ และ เฟดคัพ สร้างผลงานการแข่งขันให้คนไทยได้ภาคภูมิใจมากมาย

“สิ่งที่แทมมี่อยากเห็นคือการที่น้องๆ ได้เล่นเทนนิสด้วยความสนุก มีความรักและ ชื่นชอบจริงๆ เล่นเทนนิสด้วยหัวใจและเล่นกีฬาด้วยสปิริตจริงๆ สิ่งเหล่านี้จะทำให้การเรียนรู้ทักษะการเล่นเทนนิสเป็นไปได้ง่ายและเรียนรู้ได้เร็วเมื่อเล่นเทนนิสด้วยความสนุกแล้ว การฝึกฝนการฝึกซ้อมก็จะมีการพัฒนาที่เร็วและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ไม่ใช่เพื่อตัวเองเท่านั้นแต่เพื่อการสร้างชื่อเสียงให้ประเทศชาติซึ่งจะเป็นความภาคภูมิใจและเกียรติยศที่ติดตัวนักกีฬาไปจนวันตาย”

การเป็นนักเทนนิสรุ่นพี่ก็อยากที่จะเห็นรุ่นน้องๆได้ก้าวมาสู่ความสำเร็จ ได้สัมผัสกับความรู้สึกภาคภูมิใจกับกีฬาที่รักนี้ ซึ่งอาจจะไม่ใช่เรื่องที่ง่าย แต่ก็เชื่อว่า ถ้าทุกคนพยายามได้ทำอย่างเต็มที่ และพยายามอย่าหยุดพัฒนา เมื่อมีความมุ่งมั่นและไม่หยุดพัฒนา สักวันหนึ่งก็จะประสบความสำเร็จแน่นอน

ขอบคุณข้อมูลจาก : แทมมารีน ธนสุกาญจน์ # Tamarine Channel

LTAT