Thailand Young Blood

นักเทนนิสไทยสายเลือดใหม่ แจ้งเกิดเวทีเอเชี่ยนอินดอร์ฯ-จุดประกายความหวังวงการกีฬาลูกสักหลาด

ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวงการกีฬาเทนนิส ถูกบันทึกลงในความทรงจำของคนไทยไปเรียบร้อยแล้ว หลังจากบรรดานักหวดลูกสักหลาดทีมชาติไทยทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมในมหกรรมกีฬาระดับเอเชีย “เอเชี่ยนอินดอร์และมาร์เชียลอาร์ตเกมส์ 2017” ณ กรุงอาชกาบัต ประเทศเติร์กเมนิสถาน ที่เพิ่งปิดฉากลงไปเมื่อวันที่ 27 กันยายน ที่ผ่านมา

“2 เหรียญทอง และ 3 เหรียญทองแดง” คือของขวัญที่ทีมเทนนิสไทยนำกลับมามอบให้พี่น้องชาวไทยได้มีรอยยิ้ม โดย 2 เหรียญทอง ได้จากประเภทคู่ผสม ณัฐนนท์ กัจฉปานันท์ /ณิชาต์ เลิศพิทักษ์สินชัย, จากประเภทหญิงคู่ ธมจันทร์ มอมขุนทด /วรัญญา วงค์เทียนชัย และ 3 เหรียญทองแดง จากประเภทหญิงเดี่ยว ชมภู่ทิพย์ จันดาเขต, พัชรินทร์ ชีพชาญเดช กับประเภทชายคู่ พัชรพล กาวิน /ณัฐนนท์ กัจฉปานันท์

นับเป็นผลงานทะลุเป้าเพราะก่อนไปแข่งขัน “ภูมิสรรค์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา” อุปนายกสมาคมกีฬาเทนนิส ลอนเทนนิสสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในฐานะผู้จัดการทีม ประกาศตั้งเป้าไว้ที่ 1 เหรียญทองเท่านั้น

นั่นคือความสำเร็จ ณ เบื้องหน้า แต่ความสำเร็จที่อยู่ ณ เบื้องหลัง คือการที่ สมาคมกีฬาเทนนิส ลอนเทนนิสสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ “นักหวดสายเลือดใหม่” ก้าวมาเป็นกำลังสำคัญหรือทดแทนนักหวดรุ่นพี่ในอนาคต พวกเขาและเธอเพิ่ง “ติดทีมชาติไทยชุดใหญ่” เป็นครั้งแรก ซึ่งการมีสัญลักษณ์ธงไตรรงค์ติดอยู่บนอก คือความภาคภูมิใจที่ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะตัวนักกีฬาเท่านั้น แต่ยังนำพาความปลาบปลื้มใจไปสู่ครอบครัว ญาติพี่น้อง และเชื่อว่าไม่ได้แค่นี้ แต่ยังรวมถึงคนในวงการเทนนิสเมืองไทยที่มองดูพวกเขาและเธอเติบโตมาตั้งแต่ระดับเยาวชน

นักเทนนิสที่ติดทีมชาติไทยชุดใหญ่ครั้งแรก ใน “เอเชี่ยนอินดอร์และมาร์เชียลอาร์ตเกมส์ 2017” ได้แก่ 3 นักหวดหนุ่ม “เครน” พัชรพล กาวิน, “เน็ต” พลภูมิ โควาพิทักษ์เทศ, “ซีเจ” คงทรัพย์ คงคา และ 4 นักหวดสาว “อีฟ” พัชรินทร์ ชีพชาญเดช, “ยู่ยี่” วรัญญา วงค์เทียนชัย, “มะนาว” ธมจันทร์ มอมขุนทด และ “พราว” ชมภู่ทิพย์ จันดาเขต

จากรายชื่อดังกล่าว หลายคนมีเหรียญติดมือกลับบ้าน และบางคนไม่มีเหรียญคล้องคอกลับมา ซึ่งนั่นไม่ได้หมายความว่าพวกเขาไม่มีความสำคัญและไม่มีความหมาย เพราะเชื่อว่าการที่พวกเขาได้มีโอกาสไปแสดงฝีมือและได้ไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากเกมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ระดับเอเชียกลับมา มันจะกลายเป็นพลังหรือแรงบันดาลใจให้ก้าวต่อไปและทำได้ดียิ่งขึ้นในเวทีต่อๆ ไป

ความรู้สึกในการติดทีมชาติไทยชุดใหญ่ครั้งแรก (เรียงจากซ้ายไปขวาตามภาพประกอบ) เป็นอย่างไรกันบ้างนั้น เริ่มจาก “เครน” พัชรพล กาวิน นักหวดหนุ่ม อายุ 20 ปี จากปทุมธานี เปิดใจเป็นคนแรกเลยว่า ดีใจที่ได้รับใช้ชาติ ตอนแรกรู้สึกกดดันมากเพราะเป็นครั้งแรก พยายามบอกกับตัวเองว่าทำให้ดีที่สุด แต่ก็ยังมีอาการตื่นเต้นอยู่ตลอด เนื่องจากเป็นความใฝ่ฝันที่อยากติดทีมชาติเหมือนๆ กับนักกีฬาทุกคน และผลก็ออกมาน่าพอใจ ได้เหรียญทองแดง

“ตอนแรกคิดว่าไม่ใช่ผม ตอนที่เขาประกาศให้เหรียญ ผมคิดนะว่าฝันไปหรือเปล่า เพราะเป็นครั้งแรกที่ติดทีมชาติ ดีใจที่ทำได้ และผมก็เกือบเข้าชิงฯ ซึ่งน่าเสียดายที่แพ้เซตสามในรอบรองฯ ที่สกอร์ 5-7 จากผลงานครั้งนี้ มันจะเป็นแรงบันดาลใจทำให้ผมอยากตีเทนนิสไปอีกนาน อยากรับใช้ชาติอีก เป้าหมายต่อไป ผมยอมรับว่ามันสูงคือเอเชี่ยนเกมส์ปีหน้า แต่ผมจะพยายามสู้ ทำอันดับโลกให้สูงขึ้นให้ได้ สุดท้าย ผมขอขอบคุณสมาคมกีฬาเทนนิสฯ ที่ให้การสนับสนุนการฝึกซ้อม รวมถึงโค้ช เทรนเนอร์ นักวิทยาศาสตร์การกีฬา ตลอดจนผู้จัดการทีม และทุกคนในทีมที่ให้กำลังใจ ทำให้ผมมีวันนี้ ขอบคุณครับ”

ด้าน “เน็ต” พลภูมิ โควาพิทักษ์เทศ วัย 17 ปี ซึ่งอายุน้อยที่สุดในทีมเทนนิสไทยชุดนี้ จากฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ตอนนั้นนั่งอยู่ในรถกับคุณพ่อ (ศักดิ์ชัย โควาพิทักษ์เทศ) มีโทรศัพท์เข้ามาแจ้งคุณพ่อว่า ตนมีชื่อติดทีมชาติไทย ยอมรับว่าตื่นเต้นมากๆ เพราะไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะติดในปีนี้ หลังจากได้ไปเข้าร่วมการแข่งขันแล้ว รู้สึกว่ามันยังอีกไกลที่จะก้าวไปเป็นมือท็อปของประเทศหรือของโลกเพราะยังมีนักเทนนิสที่ฝีมือดีกว่าเราอีกเยอะ แต่ก็ทำให้ตนได้รับประสบการณ์จากคนที่เล่นเก่งกว่า ทั้งตอนฝึกซ้อมและตอนแข่งขัน ได้รู้ถึงความต่างว่าเราต่างกับเขาแค่ไหน แล้วต้องกลับมาพัฒนาอะไรบ้าง

“ตอนแข่งชายเดี่ยว รอบแรก คู่แข่งขันไม่ได้เก่งเท่าไหร่ แต่พอรอบสอง คู่แข่งขันเป็นท็อป 200 ของโลก ทำให้เห็นว่าเขาดีกว่าเราทุกรูป ทำให้เราต้องกลับมาพัฒนาอีกเยอะ การไปร่วมการแข่งขันครั้งนี้ ได้เห็นคนมานั่งดูในสนาม มีคนมาขอถ่ายภาพด้วย มันทำให้เกิดความรู้สึกที่ดีมาก มีความภูมิใจที่เราได้ติดทีมชาติ จึงอยากจะมีโอกาสไปเล่นให้ทีมชาติอีกครั้ง ซึ่งผมอยากติดทีมชาติชุดชิงแชมป์โลก ประเภททีมชาย หรือรายการ เดวิสคัพ ผมอยากรับใช้ชาติครับ”

คงทรัพย์ คงคา หรือ “ซีเจ” นักหวดหนุ่ม วัย 21 ปี จากกรุงเทพฯ กล่าวว่า ดีใจมากกับครั้งแรกที่ติดทีมชาติชุดใหญ่ ภูมิใจที่ได้เป็นนักกีฬาทีมชาติไทย เพราะอยากลงสนามแข่งขันในนามทีมชาติอยู่แล้ว ภูมิใจที่มีธงไตรรงค์ติดบนเสื้อ การเดินทางไปร่วมการแข่งขันครั้งนี้ ตนได้เห็นอะไรๆ หลายอย่าง รวมถึงบรรยากาศการแข่งขันและการเชียร์ในเกมกีฬาขนาดใหญ่ ทำให้ทราบว่ามหกรรมกีฬาเขาจัดกันแบบไหน นอกจากนี้ยังได้เห็นคู่ต่อสู้ ในประเภทชายเดี่ยว ตนเจอมือวางอันดับ 1 ของรายการ ซึ่งทำให้ได้รับประสบการณ์จากการแข่งขันค่อนข้างมาก ทั้งต้องพัฒนาเรื่องเกมและฟิตเนต

“การที่ผมได้ไปแข่งขันเอเชี่ยนอินดอร์และมาร์เชียลอาร์ตเกมส์ 2017 ทำให้เกิดแรงบันดาลใจอย่างมาก ทำให้อยากติดทีมชาติไทยอีกหลายชุดในอนาคต ผมใฝ่ฝันอยากจะติดทีมชาติไปร่วมการแข่งขันทั้งรายการ เดวิสคัพ, กีฬาซีเกมส์ และรายการใหญ่ของเอเชียอย่างเอเชี่ยนเกมส์ ผมจะตั้งใจฝึกซ้อมและพยายามทำให้มีวันนั้นให้ได้ครับ”

ขณะที่ “อีฟ” พัชรินทร์ ชีพชาญเดช นักหวดหญิง วัย 22 ปี จาก “เมืองหมอแคน” จ.ขอนแก่น ยอมรับว่าตื่นเต้นมาก ตอนแรกยังไม่ทราบว่าจะไปแข่งขันรายการอะไรใด ทราบเพียงว่าไปประเทศเติร์กเมนิสถาน แต่พอทราบรายละเอียดก็ยินดีและดีใจมาก ภูมิใจมากๆ ที่มีธงไตรรงค์ติดบนอกเป็นครั้งแรก ซึ่งมีความหมายมากกว่าการเล่นเทนนิสอาชีพ เพราะเป็นการเล่นเทนนิสเพื่อประเทศชาติ ตอนแรกที่ไปแข่งขันก็มีความรู้สึกกดดันนิดหน่อย เนื่องจากต้องการทำผลงานให้ออกมาดี จึงได้พยายามเล่นอย่างเต็มที่และทำสุดความสามารถ

“อีฟเคยฝันอยากติดทีมชาติ แต่ไม่คิดว่าจะมีวันนี้ มหกรรมที่ไปแข่งขันก็อลังการมาก ก่อนหน้าเคยเป็นตัวแทนไปแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยโลก 2017 ที่ไต้หวัน แต่ก็ไม่ได้จัดยิ่งใหญ่ขนาดนี้ การลงสนามเอเชี่ยนอินดอร์เกมส์ฯ ทำให้ได้เจอคู่ต่อสู้ที่มีฝีมือหลากหลาย รูปเกมคล้ายกับแมทช์อาชีพ แต่พอเป็นการเล่นในนามทีมชาติไทย ก็รู้สึกอยากทำให้ดีที่สุด
ทุกๆ ครั้งที่เดินทางออกไปแข่งขันเทนนิส จะทำให้ได้เรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ ทำให้เรารู้ว่าเราต้องปรับปรุงอะไรบ้าง ถ้าปีหน้าได้ติดทีมชาติอีกก็อยากทำให้ดีขึ้น เพราะอยากเล่นให้ทีมชาติไทยทุกรายการ และขอขอบคุณกองเชียร์ที่ส่งแรงใจไปเชียร์ รวมถึงทุกท่านที่ไปเชียร์ติดขอบสนาม ขอบคุณค่ะ”

ส่วน “ยู่ยี่” วรัญญา วงค์เทียนชัย นักหวดลูกสักหลาดหญิง วัย 24 ปี จากเชียงราย กล่าวว่า ตอนที่ได้รับแจ้งจากสมาคมกีฬาเทนนิสฯ ดีใจมากและภูมิใจที่ได้ติดทีมชาติไทย หลังจากนั้นตั้งใจจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ตอนลงแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ ประเภทหญิงคู่ ที่ถูกนำอยู่ 5-2 ในเซตสาม ยอมรับว่าท้อ ในขณะที่กองเชียร์ของคู่แข่งขันก็กดดันอยู่ตลอด พอเราได้แต้ม เขาก็โห่กัน พอคู่แข่งขันได้แต้ม เขาก็เฮกันลั่น ตนคุยกับพาร์ทเนอร์คือ “มะนาว” ว่าเกมยังไม่จบนะ สู้กันต่อ เราทำได้ๆ ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เราสองคนมีความเชื่อมั่นในตัวเอง จนกระทั่งทำสำเร็จ เราแซงเอาชนะได้ ภูมิใจที่เราทำได้ จบเกมน้ำตาแทบจะไหลและวิ่งไปกอด “มะนาว” ทันที พร้อมกับบอกว่าเราทำได้แล้ว

“ณ วินาที ที่ก้าวขึ้นไปยืนอยู่บนแท่นรับรางวัล มีความภูมิใจมาก ได้ร้องเพลงชาติไทยตามไปด้วย เป็นความปลื้มปิติที่เราได้ทำเพื่อประเทศชาติ การไปแข่งขันครั้งนี้ ได้รับประสบการณ์เยอะมาก โดยเฉพาะตราบใดที่เกมยังไม่จบ เราจะสู้ต่ออย่างไร เพียงแค่เรามีความเชื่อมั่นแล้วเราก็จะทำต่อได้ การไปเล่นเพื่อชาติ เหมือนมีแรงบวก มีพลังเพิ่มเข้าไปอีก กองเชียร์ก็ส่งพลังให้เราด้วย ณ ตอนนั้นพยายามโฟกัสกับ มะนาว, กองเชียร์ และอยู่กับเกมในสนาม หลังจากนี้จะเอาตรงจุดนี้ไปใช้ในการเล่นอาชีพด้วย และหากมีโอกาส ก็ยินดีที่จะรับใช้ชาติเสมอค่ะ เพราะอยากติดทีมชาติไทยอีก”

“มะนาว” ธมจันทร์ มอมขุนทด นักหวดดาวรุ่งวัย 20 ปี เปิดใจด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มว่า ภูมิใจแล้วก็ดีใจมากเพราะเป็นครั้งแรกที่ติดทีมชาติชุดใหญ่ ในช่วงที่ทำการแข่งขันนั้น ครั้งแรกที่ลงสนามมีความรู้สึกกดดันพอสมควร เพราะยังไม่เคยเจอสถานการณ์บางอย่างที่ไม่เหมือนกับการแข่งขันเทนนิสอาชีพ จึงพยายามเล่นให้ดีที่สุด ตั้งใจทำทุกเกมให้ออกมาดี จนกระทั่งประสบความสำเร็จเกินคาด ได้เหรียญทองกลับมาด้วย

“ความรู้สึกตอนนั้นดีใจมากค่ะ ที่สามารถเปลี่ยนสถานการณ์กลับมาเอาชนะได้ ดีใจที่ได้ฟังเพลงชาติไทยในต่างแดน มันภูมิใจและพูดไม่ออก เรารับรู้ได้ถึงความศักดิ์สิทธิ์ของชาติไทย เราสู้เพื่อชาติไทยค่ะ ความสำเร็จครั้งนี้ จะเป็นแรงผลักดันให้มะนาวก้าวต่อไปในเส้นทางเทนนิสอาชีพในวันข้างหน้า หากมีโอกาสก็ยินดีจะรับใช้ชาติอีกครั้งค่ะ”

ปิดท้ายด้วย “พราว” ชมภู่ทิพย์ จันดาเขต นักเทนนิสหญิง อายุ 21 ปี กล่าวว่า ดีใจและภูมิใจมากที่ได้ติดทีมชาติไทยชุดใหญ่ ทั้งๆ ที่เคยฝันไว้นานแล้ว แต่เมื่อถึงเวลาที่ติดทีมชาติจริงๆ กลับตื่นเต้นมากๆ คิดด้วยว่านี่เราไม่ได้ฝันไปใช่ไหม เราติดทีมชาติไทยแล้วจริงๆ เหรอ ไม่คิดว่าวันนี้มันจะมาถึงแล้ว คุณพ่อ (ศิวทัต จันดาเขต) ไลน์มาหา และบอกว่าดีใจมาก ทำให้ตนหัวใจพองโต เพราะดีใจมากที่ทำให้คุณพ่อภูมิใจในตัวเองได้

“การได้ไปแข่งขันครั้งนี้ ทำให้พราวรู้สึกเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้น ความฝันสูงสุดคือการได้ไปเล่นเพื่อชาติและเพื่อในหลวงค่ะ เวลาที่เห็นนักกีฬาไทยได้เหรียญทองแล้วชูพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์ ทำให้รู้สึกตื้นตันใจค่ะ เลยอยากมีโอกาสได้ทำบ้าง ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีโอกาสได้ลงเล่นเพื่อชาติ ถึงแม้จะไม่ได้ประสบความสำเร็จได้ถึงเหรียญทอง แต่ก็เป็นประสบการณ์ที่ดีมากๆ ครั้งหนึ่งในชีวิตค่ะ ทำให้พราวมีแรงบันดาลใจมากขึ้นในการเล่นเทนนิสอาชีพและอยากที่จะได้มีโอกาสลงเล่นเพื่อชาติเพื่อในหลวงและครอบครัวของพราวอีกค่ะ”

อย่างไรก็ตาม นักหวดลูกสักหลาดไทย “สายเลือดใหม่” ชุดนี้ ยังได้รับคำแนะนำดีๆ จากรุ่นพี่ “สายเลือดเก่า” ที่ติดทีมชาติมาก่อน ซึ่งไม่กล่าวถึงไม่ได้ ทั้ง “อีฟ” ณิชาต์ เลิศพิทักษ์สินชัย นักเทนนิสหญิง และ “แมน” ณัฐนนท์ กัจฉปานันท์ นักเทนนิสชาย โดย ณิชาต์ และ ณัฐนนท์ ผนึกกำลังคว้าเหรียญทองเหรียญแรกให้ทีมเทนนิสไทยจากประเภทคู่ผสม นับเป็นการเปิดหน้าประวัติศาสตร์ได้อย่างน่าชื่นชมและน่าประทับอย่างมาก กับการที่ “เทนนิสในร่ม” เพิ่งได้รับการบรรจุเข้าในการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนอินดอร์และมาร์เชียลอาร์ตเกมส์เป็นครั้งแรก

ตลอดจนคำแนะนำดีๆ จาก ภูมิสรรค์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา อุปนายกสมาคมกีฬาเทนนิสฯ ในฐานะผู้จัดการทีม, นายตราวุธ ศิริบุตรวงศ์, นายอัคสิทธิ์ เทพกสิกุล สองผู้ฝึกสอนเทนนิสทีมชาติไทย รวมถึงการทำหน้าที่ของ นายธัชกรณ์ ธีรวิศิษฏ์ นักวิทยาศาสตร์การกีฬา และ น.ส.สุดารัตน์ อภิบาลทวีสกุล นักกายภาพบำบัด ที่มีส่วนช่วยให้นักเทนนิสมีวันนี้

ท้ายที่สุดแล้ว เชื่อว่าคนในวงการเทนนิสเมืองไทยจะเฝ้าติดตามและส่งกำลังใจให้พวกเขาและเธออยู่เสมอ เพราะกีฬาลูกกลมๆ อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ เช่นเดียวกับโอกาสของพวกเขาและเธอ ที่อาจเกิดขึ้นอีกครั้งในการติดทีมชาติไทยสู้ศึกครั้งต่อๆ ไป ฝากกองเชียร์เทนนิสไทย อย่าลืมส่งแรงใจหรือตะโกนออกไปด้วยว่า “ไทยแลนด์สู้ๆ …ไทยแลนด์สู้ๆ” เพราะคำๆ นี้ สัมฤทธิ์ผลมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน…
.

 

LTAT