วิชยา ตรงเจริญชัยกุล ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่คือได้ติดทีมชาติ

Written by LTAT Admin

วิชยา ตรงเจริญชัยกุล ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่คือได้ติดทีมชาติ

คอลัมน์ : เปิดตัวทีมชาติ 2564

ถ้า “ความสำเร็จ” ในการเป็นนักเทนนิสอาชีพ ต้องวัดกันด้วยอันดับโลก ต้องก้าวไปสู่มือระดับท็อปของโลก ต้องได้แชมป์เยอะๆ ต้องได้ถ้วยรางวัลมากๆ วิชยา ตรงเจริญชัยกุล อาจจะไม่ใช่ นักเทนนิสอาชีพ ที่ประสบความสำเร็จในความหมายนั้น

แต่เขาก็ยัง “มีความสุข” และ “เดินหน้า” บุกตะลุยสู่สนามแข่งขันเทนนิสอาชีพด้วยหัวใจที่แข็งแกร่ง และ ไม่ย่อท้อ แม้ผลลัพท์ของการแข่งขันอาจจะไม่สมหวัง หรือประสบความสำเร็จอย่างที่หลายคนคิดและคาดหวัง เพราะ “ความสำเร็จ”ในมุมของ วิชยา คือ การได้จับแร็กเกตลงสู่สนามแข่งขันและโชว์ฟอร์มการเล่นอย่างเต็มที่ มีศรัทธาในความ “เป็นตัวเองเสมอ” และไม่พยายามลอกเลียนแบบในความสำเร็จของคนอื่น เพื่อกดดันตัวเอง

“ทุกครั้งที่ผมลงแข่งขัน ผมเต็มที่กับเกมนั้นๆในทุกครั้ง แน่นอนว่า มันอาจจะไม่ถูกใจใคร แต่ผมมั่นใจว่าตัวเองได้ทำเต็มที่และไม่คิดเสียใจกับความพ่ายแพ้ เพราะเทนนิสอะไรก็สามารถเกิดขึ้นได้ และถ้าเราแพ้ก็ต้องกลับมาแก้ไข ถ้าชนะนอกจากดีใจแล้วก็ต้องพยายามทำให้ดีขึ้นกว่าเดิม”

วิชยา เริ่มต้นการเล่นเทนนิสในวัย 8 ขวบ หลังจากที่หันหลังให้กับกีฬา ไอซ์ฮอกกี้ ด้วยความรู้สึกที่ว่า เทนนิสเป็นกีฬาที่มีความท้าทาย มีคู่ต่อสู้อยู่ฝั่งตรงข้าม และการได้เห็นไม้เทนนิสของคุณพ่อสุรชัย กับ คุณแม่บุญดี ที่เล่นเทนนิสกันอยู่แล้วก็เลยสนใจและได้เข้ามาเล่นเทนนิสโดยมีพ่อเป็นโค้ชคนแรก

ด้วยความเป็นคนที่ชอบและรักในการเล่นกีฬามาตั้งแต่เป็นเด็ก จึงทำให้ วิชยา มีร่างกายที่แข็งแรง และสูงใหญ่ บวกกับเป็นคนที่เรียนรู้เร็ว มีความตั้งใจ ทำให้เขาสามารถพัฒนาศักยภาพการเล่นเทนนิสให้ตัวเองได้ค่อนข้างเร็ว การเป็นนักหวดที่เล่นเกมบุกได้อย่างแข็งแกร่ง เด็ดขาด และมีรูปร่างสูงถึง 193 เซ็นติเมตร ทำให้ วิชยา สามารถก้าวสู่การแข่งขันในระดับ จูเนียร์ แกรนด์สแลม เป็นครั้งแรกในวัย 16 ปี และโชว์ฟอร์มได้อย่างเยี่ยมยอดในการเล่นเทนนิสระดับเยาวชน สามารถคว้าแชมป์เยาวชนไทยรุ่น 18 ปี, รองแชมป์เยาวชนนานาชาติ ไอทีเอฟ จูเนียร์ เกรด 2 สามสมัย

วิชยา มีโอกาสได้เป็นนักเทนนิสดาวรุ่งมาแรงของไทยเข้าร่วมศึกเทนนิส เอทีพี ทัวร์ รายการ “ไทยแลนด์ โอเพ่น 2013” ในขณะที่อายุ 17 ปีในฐานะนักเทนนิสไวล์การ์ด แม้รายการดังกล่าวจะไม่ประสบความสำเร็จ หลังพ่ายแพ้ให้กับ มารินโก มาโตเซวิช นักเทนนิสออสเตรเลียมือ 56 ของโลกในขณะนั้น 2 เซตรวด

นั่นคือ “ก้าวแรก” ของวิชยา ในการเล่นเทนนิสอาชีพระดับเอทีพี ทัวร์ ในขณะที่ยังเทิร์นโปรได้ไม่เต็มตัวนัก แต่ก็ถูกหลายคนจับตามองและคาดหวังว่าจะก้าวมาเป็น “ซูเปอร์บอล2” ของวงการเทนนิสไทย
“การถูกมองและถูกคาดหวังอยากเห็นผมประสบความสำเร็จเหมือนเช่นพี่บอลแน่นอนว่าผมดีใจที่ทุกคนเห็นว่าผมมีความสามารถ และผมไม่ถือว่านี่เป็นความกดดันอะไร แต่กลับเป็นแรงผลักดัน มีกำลังใจในการฝึกซ้อม และ มุ่งมั่นเต็มที่กับการแข่งขัน”

แต่โลกของการเป็นนักเทนนิสอาชีพไม่ได้สวยงาม และ ปูพรมพร้อมโรยด้วยกลีบกุหลาบ ทุกย่างก้าว ทุกสนามแข่งขันเต็มไปด้วย “อุปสรรค” และ “ความกดดัน” ที่นักเทนนิสทุกคนต้องเจอ และ ต้องผ่านไปให้ได้
วิชยา พยายามปรับเกมการเล่นให้เข้ากับคู่ต่อสู้ที่หลากหลาย และพัฒนาเกมการเล่นของตัวเอง ที่นอกจากจะเน้นไปที่เกมหนัก การเสิร์ฟที่รุนแรง และการยิงโปร์แฮนด์ที่ดุดัน ที่นับว่าเป็นอาวุธเด็ดขาดของตัวเองแล้ว ยังไม่เพียงพอที่จะเก็บชัยชนะเหนือคู่ต่อสู้ ยังต้องมีการเคลื่อนที่เข้าหาบอลที่เป็นจุดอ่อนด้วยความเป็นนักเทนนิสรูปร่างสูง การเข้าถึงบอลอาจจะยังไม่แคล่วคล่องนัก

หลังเทิร์นโปรเต็มตัวได้ปีเศษๆ วิชยา ก็เริ่มมีปัญหาอาการบาดเจ็บเข้ามารบกวนจึงทำให้เกมการเล่นเทนนิสอาชีพของเขาชะงักลงไป และ ยังไม่สามารถก้าวข้ามขึ้นไปสู่มือระดับท็อป 300 ของโลกอย่างที่คาดหวัง
การพยายามกลับมาสู่สนามเทนนิสด้วยสภาพร่างกายที่สมบูรณ์พร้อมของ วิชยา ในปี 2017 และ ปี 2018 ที่ถือเป็นช่วงปีที่สามารถโชว์ฟอร์มได้อย่างเยี่ยมยอด สามารถคว้าแชมป์เทนนิส ไอทีเอฟ เวิลด์ ทัวร์ ได้พร้อมกับการทะยานเข้าสู่รอบลึกๆของการแข่งขันได้หลายรายการ จนกระทั่งทำให้อันดับ ไอทีเอฟ แรงกิ้ง ทะยานขึ้นอยู่ระดับที่ดีที่สุดในชีวิต คือมือ 395 ของโลก

วิชยา ผ่านการคว้าแชมป์ ไอทีเอฟ ในประเภทเดี่ยว 2 รายการ และการแข่งขันเทนนิสระดับ เอทีพี ชาลเลนเจอร์ ทัวร์ รวมถึงไอทีเอฟ เซอร์กิต ในประเภทคู่รวม 3 รายการ

ส่วนการแข่งขันในนามทีมชาติ วิชยา ติดทีมชาติชุดเดวิสคัพ มาตั้งแต่ปี 2013 ขณะที่อายุ 18 ปี โดยทำผลงานให้ทีมด้วยการคว้าชัยชนะ 12 ครั้งจากการลงเล่นเพื่อชาติทั้งสิ้น 19 ครั้ง
เคยเข้าร่วมทีมชาติชุดซีเกมส์ มา 2 สมัยโดยในการติดทีมชาติชุดซีเกมส์ ครั้งแรก ในการแข่งขันที่มาเลเซีย เป็นเจ้าภาพในปี 2017 สามารถคว้า 2 เหรียญทองแดงจากทีมชาย และ ชายเดี่ยว ส่วนซีเกมส์ ครั้งที่ 30 ที่ฟิลิปปินส์ ในปี 2019 ไม่สามารถคว้าเหรียญรางวัลใดๆกลับมาได้
นอกจากนี้ วิชยา ยังมีโอกาสได้เข้าร่วมกับทีมชาติชุดใหญ่ลงทำศึกในการแข่งขัน เอเชียนเกมส์ 2018 ที่ประเทศอินโดนีเซียทำผลงานดีที่สุดคือเข้ารอบสามในการแข่งขันประเภทชายเดี่ยว

สำหรับปีนี้ วิชยา ซึ่งพกดีกรีมือ 1 ประเทศไทย มืออันดับ 758 เอทีพี แรงกิ้ง และ มือ 336 ไอทีเอฟ แรงกิ้ง สามารถผ่านการคัดเลือกตัวเข้าร่วมเป็นหนึ่งในทีมนักเทนนิสทีมไทยเพื่อไปสู่ศึกซีเกมส์ ครั้งที่ 31 ที่ประเทศเวียดนามอีกครั้ง ด้วยผลงานที่ต้องลุ้นกันจนวินาทีสุดท้ายจากการแข่งขันรอบจัดอันดับที่ 5

“ถามว่าตอนนั้นกดดันหรือไม่ ผมเองไม่รู้สึกกดดันอะไร เพราะเทนนิสเป็นกีฬาที่อะไรก็สามารถเกิดขึ้นได้ในสนามแข่งขัน ถ้าผมทำผลงานไม่ดีและจะไม่ติดทีมชาติผมก็ไม่เสียใจหรือผิดหวัง เพราะผมถือว่าได้ทำเต็มที่แล้ว”

“การแข่งขันเทนนิสมีผู้แพ้ กับ ผู้ชนะ ผมบอกตัวเองทุกครั้งที่ลงแข่งขันว่าเรามีหน้าที่ทำให้เต็มที่ในทุกๆการแข่งขัน ถ้าจะแพ้ก็คิดเพียงว่ายังไม่ใช่วันของเรา แต่ถ้าชนะแน่นอนว่าก็ต้องดีใจและภูมิใจ”

วิชยา ในโอกาสที่ได้กลับมาร่วมรับใช้ชาติปีนี้ที่มี 2 ภารกิจใหญ่ นั่นคือ การร่วมทีมลงแข่งศึก เดวิสคัพ ศึกชิงแชมป์โลก ประเภททีมชาย รอบ ที่ทีมไทยจะพบกับ เดนมาร์ก ในเดือนกันยายนนี้ กับศึกซีเกมส์ ครั้งที่ 31 ที่เวียดนามในช่วงปลายปี

“ทุกครั้งที่ลงเล่นในนามทีมชาติผมมีความภาคภูมิใจเสมอ และผมจะเต็มที่กับการแข่งขัน เพราะมีคนคาดหวังกับผลงานของเราเยอะ เราไม่ได้แข่งเพื่อตัวเองกับครอบครัวเท่านั้น แต่เราแข่งในนามตัวแทนคนไทย ในนามทีมชาติไทย มันเป็นความรู้สึกที่ท้าทายขึ้นมาอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งผมก็ต้องเต็มที่ให้มากกว่าเดิม”

“กับซีเกมส์ก็ยังเป็นการแข่งขันที่ท้าทาย ผมก็มีความหวังเช่นเดียวกับนักเทนนิสคนอื่นๆที่แน่นอนว่าเหรียญทองเป็นสิ่งสูงสุดที่อยากได้และผมก็ยังไม่เคยได้สัมผัสกับสิ่งนี้ แต่ก็นั่นแหละเมื่อทุกคนอยากได้ในสิ่งเดียว กันมันก็จึงเป็นเรื่องที่ต้องแข่งขันและทุกคนก็ต้องเตรียมพร้อมมาเต็มที่ จึงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ยากหากเราจะเตรียมพร้อมให้มากขึ้น”

วิชยา ยอมรับว่า การแข่งขันซีเกมส์ 2 ครั้งที่ผ่านมา ยังมีอะไรให้ต้องปรับปรุงแก้ไข และ ต้องกลับมาคิดวางแผนการฝึกซ้อมให้หนักและเตรียมตัวให้ดีขึ้นมากกว่าที่ผ่านมา
การควบคุมอารมณ์ของตัวเองระหว่างการแข่งขันก็นับว่าสำคัญ ซึ่งที่ผ่านมา วิชยา ได้มีการปรับอารมณ์ความรู้สึกและมุมมองในการเล่นเทนนิสที่ให้ตัวเอง “สนุก” กับการเล่นมากยิ่งขึ้น

“ที่ผ่านมาผมอาจจะมีอารมณ์ร้อนในการเล่นเทนนิส ซึ่งผมก็รู้ตัวและพยายามปรับปรุงควบคุมอารมณ์และมีสมาธิอยู่กับเกมให้มากที่สุด เมื่อก่อนผมมุ่งเน้นที่จะเอาชนะและเล่นเกมตัวเองมากเกินไป แต่ตอนนี้ผมมองการเล่นเทนนิสใหม่ คือ เล่นให้สนุก มีความสุขกับการแข่งขัน และไม่ได้สนใจว่าเราจะต้องชนะอย่างเดียว”

วิชยา บอกว่า วันนี้ที่ยังคงเล่นเทนนิสอยู่ได้แม้หลายคนอาจจะมองว่า โอกาสที่จะไปสู่ความสาเร็จในมุมที่หลายคนคิดคือ การก้าวสู่มือท็อปของโลกอาจจะไกลเกินจริง ก็เพราะมีการปรับทัศนคติในการเล่นเทนนิสใหม่ โดยใช้ความรู้สึกสนุกและรักในการเล่นเทนนิสเป็นตัวนำทาง
พร้อมยังย้ำมาอีกว่า เขาไม่เคยมีความคิดที่จะเลิกเล่นเทนนิส เขาจะยังคงพยายามก้าวต่อไปในถนนสายนี้ แม้ว่าอาจจะไม่สามารถนำเขาไปสู่ความฝันและเป้าหมายที่ตั้งไว้ในตอนแรกที่ตัดสินใจเทิร์นโปร นั่นคือ การก้าวสู่มือท็อป 100 ของโลกแต่ตราบใดที่ยังไม่หยุดก้าว เขาก็ยังมีโอกาสไปถึงหรือเฉียดเข้าใกล้สิ่งนั้นได้ในสักวันหนึ่ง
และที่สุดหากไปไม่ถึงจุดนั้นได้จริงๆ วิชยา ก็ยังดีใจและภูมิใจที่ได้ทำในสิ่งที่รักอย่างเต็มที่แล้ว

“เทนนิส ให้อะไรผมเยอะมาก เทนนิส เป็นกีฬาที่ผมรัก ผมสนุก และ มีความสุขกับการเล่นการฝึกซ้อม และที่สำคัญคือการได้เป็นส่วนหนึ่งของทีมชาติ ก็เกิดขึ้นได้จากกีฬาเทนนิส”
และนี่คือ “ความสำเร็จ” แล้วในมุมมองและรูปแบบของ วิชยา ตรงเจริญชัยกุล ที่แม้บางอย่างอาจไม่มีอะไรเหมือนกับความสำเร็จที่เคยคิดไว้เลยก็ตาม แต่ก็สร้างความภาคภูมิใจให้ตัวเองอย่างยิ่งใหญ่ได้เช่นกัน

LTAT