เปิดเส้นทางสู่ทีมชาติของ”แซค” ฐานทัพ สุขสำราญนักหวดไซส์ S ที่มีหัวใจไซส์ L

Written by LTAT Admin

เปิดเส้นทางสู่ทีมชาติของ”แซค” ฐานทัพ สุขสำราญนักหวดไซส์ S ที่มีหัวใจไซส์ L

คอลัมน์ : เปิดตัวทีมชาติ 2564

ฐานทัพ สุขสำราญ ชื่อนี้อาจแปลกใหม่สำหรับคนทั่วไป แต่ในวงการกีฬาเทนนิส ชื่อของ “ฐานทัพ” หรือที่เพื่อนๆ เรียกว่า “แซค” เป็นที่พูดถึงและถูกจับตามองมาตั้งแต่ระดับเยาวชน จนในที่สุดวันนี้ เขาได้ประสบความสำเร็จไปอีกขั้น ด้วยการก้าวขึ้นมาติดทีมชาติชุดใหญ่ได้เป็นครั้งแรก ในวัย 20 ปี แต่กว่าจะมายืนในจุดนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย “ฐานทัพ” ต้องเจอบททดสอบต่างๆ มากมายที่เข้ามาท้าทายความฝันของเขา โดยเฉพาะในเรื่องของสรีระร่างกาย ซึ่ง “แซค” เป็นนักหวดที่มีความสูงน้อยที่สุดในทีมชาติไทยชุดนี้ ด้วยส่วนสูงเพียง 173 เซนติเมตรเท่านั้น รวมถึงในส่วนของผู้สนับสนุน ซึ่งกว่าจะมีสปอนเซอร์เข้ามาก็ทำเจ้าตัวเกือบถอดใจไปเสียก่อน
-จากเล่นเอาสนุก สู่โหมดจริงจัง

“ผมเริ่มเล่นเทนนิสตอนประมาณ 6 ขวบ โดยมีพ่อเป็นโค้ชคนแรก จนอายุประมาณ 10 ขวบก็เริ่มมีแวว เป็นแถวหน้าของรุ่น ความสนุกและเป้าหมายตอนนั้นคือ แค่อยากชนะ อยากเป็นแชมป์ ต้องการเป็นที่หนึ่ง ผมชอบการแข่งขัน ชอบความท้าทาย ตอนนั้นผมคิดแค่นั้นจริงๆ” ฐานทัพ ย้อนความหลังของตัวเอง

“ฐานทัพ” เกิดและเติบโตที่จังหวัดลพบุรี ในครอบครัวที่ไม่ได้มีฐานะร่ำรวย อย่างไรก็ดี การที่เขาได้รู้จักกับกีฬาเทนนิส จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่คิดว่าจะสามารถช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของครอบครัวให้ดีขึ้นได้ โดยหลังจากที่เจ้าตัวมีชื่อติดเยาวชนทีมชาติ รุ่นอายุไม่เกิน 14 ปี ได้เป็นครั้งแรก ทำให้จากความคิดที่แค่ตีเอาสนุกไปวันๆ เปลี่ยนเข้าสู่โหมดจริงจังนับตั้งแต่นั้นมา

“ฐานทัพ” ตัดสินใจลาออกจาก โรงเรียนวินิตศึกษา ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และย้ายมาเรียนที่ โรงเรียนกีฬาจังหวัดสุพรรณบุรี ในรูปแบบของนักเรียนทางไกล เพื่อจะได้ทุ่มเทให้กับเทนนิสอย่างเต็มตัว พร้อมกับคำมั่นสัญญาที่ให้กับทางบ้านว่าจะมุ่งมั่นตั้งใจฝึกซ้อมอย่างเต็มที่ ซึ่งการที่ได้ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการฝึกซ้อมเทนนิสเต็มรูปแบบ ทำให้พัฒนาการของ ฐานทัพ โดดเด่นขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จนมีชื่อติดทีมชาติอีกครั้ง ในรุ่นอายุไม่เกิน 16 ปี ประจำปี 2560 พร้อมได้ไปลุยศึก “จูเนียร์ เดวิสคัพ” โซนเอเชีย/โอเชียเนีย ที่เมืองนิวเดลี ประเทศอินเดีย

-มือดี แต่กรรมบัง

แม้ว่าในช่วงเวลาดังกล่าว “ฐานทัพ” จะพิสูจน์ตัวเองด้วยการมีชื่อติดทีมชาติในระดับเยาวชนได้ทั้งในรุ่น 14 ปี และ 16 ปี แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้สปอนเซอร์เข้ามาสนับสนุน ซึ่งในฐานะนักกีฬา โดยเฉพาะนักเทนนิส ต้องการทุนทรัพย์ในการเดินทางออกแข่งขันต่างประเทศ เก็บเกี่ยวประสบการณ์ รวมถึงสะสมแต้มอันดับโลก เพื่อที่จะได้มีสิทธิ์เข้าร่วมแข่งขันในระดับที่สูงขึ้น ในขณะที่เพื่อนร่วมรุ่น รวมถึงรุ่นน้องอีกหลายคนได้รับโอกาสดีๆ แบบนี้ไปแล้ว

แต่โอกาสมักเปิดกว้างให้คนที่มีความพยายามและอดทนอยู่เสมอ ในที่สุดฝีไม้ลายมือของ “แซค” ก็ไปเข้าตาของ “ครูตู่” ธารวัฒน์ ค้าเจริญ แห่งค่ายสิงห์ ที่ช่วยผลักดันให้ “แซค” เข้าไปเป็นนักเทนนิสในสังกัดของ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ช่วงต้นปี 2018 ในวัย 17 ปี

“ก่อนจะได้รับการสนับสนุนจากสิงห์ ผมยอมรับว่ารู้สึกท้อ จนเกือบคิดจะถอดใจอยู่แล้ว เพราะทำได้แค่ซ้อม แต่ไม่มีโอกาสได้ออกแข่ง ตอนนั้นผมเริ่มคุยกับพ่อแล้วว่าจะไปยังไงต่อ ถ้าอยู่แบบนี้ไปเรื่อยๆ คงไปได้ไม่ไกลแน่ๆ แต่ผมก็ยังไม่ท้อ ก้มหน้าทำงานของผมต่อไป จนในที่สุดก็ได้รับโอกาสให้เป็นหนึ่งในสมาชิกนักเทนนิสค่ายสิงห์ฯ อย่างเต็มตัว” ฐานทัพ เล่าถึงช่วงเวลาที่ท้อจนเกือบถอดใจ

– 1 ปี จากมือไร้อันดับ สู่มือ 54 เยาวชนโลก

หลังจากที่ “ฐานทัพ” ได้โอกาสออกแข่งขันต่างประเทศ เจ้าตัวก็แจ้งเกิดได้ทันที โดยเริ่มต้นจากมือไร้อันดับที่เดินหน้าสร้างผลงาน และสามารถคว้าแชมป์มาได้หลายรายการ จนทะยานขึ้นไปอยู่ในอันดับ 54 เยาวชนโลกได้ ภายในเวลาไม่ถึง 1 ปี

“ถึงผมจะไม่ค่อยมีประสบการณ์ในการแข่งขันกับนักกีฬาต่างประเทศมากนัก แต่สิ่งที่ผมมีคือ ความมั่นใจ ผมค่อนข้างเชื่อมั่นในตัวเองว่า ผมสามารถสู้กับนักกีฬาประเทศอื่นได้ ซึ่งพอได้ลงไปเล่นจริงๆ ก็เห็นว่าเราก็ไม่ได้ด้อยกว่าคนอื่นเลย ถึงเราจะตัวเล็กกว่าคู่แข่งที่สูงมากกว่า 180 เซนติเมตร ผมก็สามารถเอาชนะเขาได้ ในตอนนั้นก็ทำให้นักกีฬาต่างชาติพากันสงสัยว่า ไอ้นี่มันเป็นใคร มาจากไหน ไม่มีแร้งกิ้ง เป็นมือโนเนม แต่มีผลงานโดดเด่นจนเป็นที่จับตามอง”

-กาลครั้งหนึ่งในห้องล็อคเกอร์กับนักหวดระดับโลก

การลงแข่งขันในระดับแกรนด์สแลม คือความฝันสูงสุดของนักเทนนิสทุกคน ไม้เว้นแม้แต่ในระดับ จูเนียร์ แกรนด์สแลม ก็เป็นทัวร์นาเมนต์ที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้เหล่านักหวดเยาวชนจากทั่วโลกที่อยากเข้าไปซึมซับบรรยากาศและมีส่วนร่วมกับเกมระดับโลก เช่นเดียวกับในรายของ “ฐานทัพ” เด็กหนุ่มต่างจังหวัด ที่ไม่คิดไม่ฝันว่าจะมีโอกาสได้ใกล้ชิดกับบรรดานักหวดชั้นนำของโลก

“จูเนียร์ แกรนด์สแลม บรรยากาศคือนักเทนนิสอาชีพเลยครับ ครั้งแรกของผมคือที่ จูเนียร์ ออสเตรเลียน โอเพ่น ผมได้เข้าไปอยู่ในพื้นที่เดียวกับนักหวดระดับโลก ผมนั่งอยู่ในห้องน้ำร่วมกับ ราฟาเอล นาดาล, คาร์ลอส โมยา ผมนั่งแต่งตัวอยู่ เขานั่งคุยกัน ให้ความรู้สึกเหมือนผมเป็นนักกีฬาอาชีพเหมือนกันเลยครับ ตอนที่นั่งอยู่ตรงนั้น ผมก็คิดกลับไปว่า เรามาอยู่ตรงนี้แล้วหรอ อารมณ์ประมาณว่า เราเองก็ทำได้นี่หว่า ก่อนหน้านี้ไม่เคยคิดว่าจะได้เข้ามาเล่น ในจูเนียร์ แกรนด์สแลม ทำให้ผมมีความตั้งใจว่าสักวันหนึ่ง จะกลับไปนั่งตรงนั้นอีกครั้งในฐานะนักกีฬาอาชีพ” ฐานทัพ ย้อนถึงความรู้สึกประทับใจที่ไม่มีวันลืมในห้องล็อกเกอร์ร่วมกับนักหวดระดับโลก

-เก็บคำครหา เป็นแรงผลักดันสู่เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่

“ตัวแค่นี้ จะไหวหรอ”, “ตัวแค่นี้ จะเอาอะไรไปสู้กับเขา” นี่เป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งของคำสบประมาท ที่เด็กหนุ่มคนนี้ต้องเผชิญมาตั้งแต่เริ่มเล่นเทนนิส ทั้งที่กีฬาชนิดนี้ขึ้นชื่อว่าเป็นกีฬาที่เขารัก และตั้งใจอยากทำให้ดีที่สุดเพียงเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ฐานทัพ ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า แม้จะตัวเล็กกว่าคู่แข่ง แต่สิ่งหนึ่งที่เขามีไม่น้อยกว่าคนอื่นคือ ขนาดของใจ ที่มาพร้อมกับความมุ่งมั่นที่จะแสดงให้เห็นว่า แม้จะมีสรีระที่เป็นอุปสรรค แต่หากมีความเชื่อมั่น และดึงศักยภาพของตัวเองออกมาใช้ได้อย่างถูกต้อง ก็สามารถนำพาไปสู่ความสำเร็จได้ โดย “ฐานทัพ” มีสไตล์การตีที่เน้นการโจมตีจากท้ายคอร์ท ด้วยสโตรคที่หนักหน่วง ( Aggressive base-liner) โดยมี โรเจอร์ เฟดเดอเรอร์ ยอดนักหวดชาวสวิสฯ เป็นต้นแบบ

ขณะที่ผลงานของ ฐานทัพ หลังจากได้ขึ้นมาเล่นรุ่นทั่วไป สามารถทำผลงานได้โดดเด่นหลายรายการ อาทิ ในประเภทชายคู่ สามารถคว้าแชมป์มาได้ถึง 2 ครั้ง ในรายการ หัวหิน โอเพ่น รอบมาสเตอร์ 2020, รายการ ไทยแลนด์ แชมป์เปี้ยนชิพ 2021 และในประเภทชายเดี่ยว ได้รองแชมป์ รายการอาชีพ สิงห์ ทีเอทีพี แชมเปี้ยนชิพ 2020

รวมถึงภารกิจในการคัดเลือกตัวแทนนักกีฬาทีมชาติชุดใหญ่ครั้งที่ผ่านมา ซึ่งเต็มไปด้วยบรรดานักหวดฝีมือดีมากมาย ประกอบกับรูปแบบการคัดตัวที่เข้มข้น ซึ่งนอกจากจะต้องซ้อมรูปแบบเกมการเล่นแล้ว ขณะเดียวกันทุกคนต้องมีการเตรียมความพร้อมในเรื่องร่างกายมาเป็นอย่างดี เพื่อที่จะรับมือกับสถานการณ์ในการแข่งขันแบบต่อเนื่อง เช่นเดียวกับ “ฐานทัพ” ที่แบกคาดหวัง ซึ่งมาพร้อมความกดดัน ที่จะมีชื่อติดทีมชาติชุดใหญ่ให้ได้เป็นครั้งแรก

“ก่อนคัด ผมยอมรับว่ามีความกังวลพอสมควร ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ครอบครัวอยากเห็นเราประสบความสำเร็จ ส่วนตัวผมเองก็ยังไม่เคยติดทีมชาติชุดใหญ่ จึงอยากทำให้ทางบ้านภูมิใจ จนทำให้รู้สึกกดดันตัวเองเกินไป โดยเฉพาะในช่วงของการซ้อมสัปดาห์สุดท้าย เป็นการเล่นเซต ฟอร์มเละเทะ ออกทะเล จนผมเสียความมั่นใจไปเลย” ฐานทัพ เผยถึงเหตุการณ์ที่ทำเกือบทำให้เสียศูนย์ก่อนจะคัดตัวทีมชาติ

อย่างไรก็ตาม หลังจากได้กลับมาคิดทบทวนถึงข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นในช่วงการฝึกซ้อม ทำให้รู้ถึงปัญหา และสามารถแก้ไขได้ทันการณ์ จนความมั่นใจกลับมาอีกครั้งก่อนที่การคัดตัวจะเริ่มขึ้น ซึ่งผลปรากฏว่าในการแข่งขันดังกล่าว “ฐานทัพ” โชว์ฟอร์มการเล่นได้อย่างเยี่ยมยอด พร้อมกับมีชื่อติดทีมชาติไทยชุดใหญ่ได้เป็นครั้งแรก ตามที่หวังไว้

“ผมรู้สึกประทับใจทุกแมทช์ที่ลงแข่งขัน แต่ละเกมมีความยากที่แตกต่างกันไป ทำให้ต้องละเอียดและเน้นในทุกเกม ไม่ว่าจะเจอกับรุ่นน้องหรือรุ่นพี่ เพราะแต่ละคนคือระดับหัวกะทิของเมืองไทย หนักทุกเกม แม้แต่การเจอนักเทนนิสรุ่นน้อง ซึ่งมีแรงกระตุ้นที่อยากจะล้มรุ่นพี่” ฐานทัพ เผยถึงเส้นทางของการคัดตัวทีมชาติ

ขณะที่หนึ่งในแมทช์ที่สร้างความประทับใจให้กับ “ฐานทัพ” คือการลงสนามพบกับ “วิน” ณัฐสิทธิ์ กุลสุวรรณ์ ซึ่งเขาไม่เคยเอาชนะได้เลย ตั้งแต่สมัยเยาวชน ทว่าสามารถแก้ทางจนสามารถเอาชนะ 2-0 เซต ซึ่งนอกจากจะเป็นการปลดล็อคเอาชนะได้เป็นครั้งแรกแล้ว ยังเป็นการเพิ่มความมั่นใจให้กับตัวเองในการแข่งขันรอบต่อไปได้เป็นอย่างดี

รวมถึงในการคัดตัวรอบที่สาม ซึ่งในรอบนี้ “ฐานทัพ” ผ่านเข้ามาอยู่ร่วมกลุ่ม กรุ๊ปออฟเดธ ซึ่งประกอบด้วย “จูเนียร์” วิชยา ตรงเจริญชัยกุล, “บูม” กษิดิศ สำเร็จ และ “ซีเจ” คงทรัพย์ คงคา ในรอบนี้ อันดับ 1 และ 2 จะมีชื่อติดทีมชาติทันที โดยแมทช์แรกของรอบนี้ ฐานทัพ เจอกับ “จูเนียร์” รุ่นพี่ที่ผ่านการติดทีมชาติมาแล้วหลายสมัย ซึ่งเจ้าตัวไม่เคยเอาชนะรุ่นพี่รายนี้ได้ แต่ก่อนที่จะแข่งขัน ฐานทัพ ได้ทำการบ้าน พยายามศึกษาวิธีการเล่นของ “จูเนียร์” ด้วยการเตรียมรับมือกับลูกเสิร์ฟที่หนักหน่วง เน้นการซ้อมรีเทิร์นลูกเสิร์ฟ ควบคู่ไปกับการเน้นเกมเสิร์ฟของตัวเอง ให้เปอร์เซ็นเสิร์ฟลูกแรกคงที่ พยายามรักษาเกมเสิร์ฟของตัวเอง และหาจังหวะเบรกเกมเสิร์ฟ จนสามารถเอาชนะเอาชนะ “จูเนียร์” ได้ในที่สุด 2-0 เซต

“หลังจบแมทช์แรก ที่เอาชนะพี่จูเนียร์มาได้ ผมรู้ว่างานของผมยังไม่จบ ทุกคนรอบข้างผมได้กำชับว่าในการแข่งขันอะไรก็เกิดขึ้นได้ ซึ่งผมก็ไม่ได้ชะล่าใจ แต่ก็ยอมรับว่ามีแอบคิดในใจว่าเราเข้าใกล้ทีมชาติอีกก้าวหนึ่งแล้ว”
ทว่าหลังจบแมทช์ที่สอง ที่แพ้ให้กับ “บูม” 0-2 เซต ทำให้สถานการณ์เปลี่ยนไป จากโอกาสที่จะลอยลำ ทำให้ต้องตกอยู่ใต้ความกดดันอีกครั้งในแมทช์สุดท้าย ที่เป็นแมทช์ชี้ชะตากับ “ซีเจ” ซึ่งท้ายที่สุด “แซค” ก็สามารถผ่านมาได้ด้วยชัยชนะ 2-1 เซต โดยเจ้าตัวยกให้เป็น 1 ในแมทช์ที่ยากที่สุดในชีวิต

“ผมดีใจมากครับ ไม่เคยดีใจเท่านี้มาก่อน เพราะหากไม่ติดทีมชาติครั้งนี้ ผมก็ไม่รู้ว่าชีวิตตัวเองจะไปต่อยังไง โดยเฉพาะเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ ซึ่งผมใช้เงินจากการเล่นเทนนิสหาเลี้ยงตัวเอง การมีชื่อติดทีมชาติครั้งนี้ จึงทำให้ผมรู้สึกเหมือนยกภูเขาออกจากอกครับ”
ปัจจุบัน “ฐานทัพ”ศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 3 ที่ ม.การกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตสมุทรสาคร ปี 3 โดยการมีชื่อติดทีมชาติชุดใหญ่ครั้งแรกของ “ฐานทัพ” ซึ่งนอกจากจะสร้างความภาคภูมิใจให้กับเจ้าตัวและครอบครัว ทั้งคุณพ่อ “ร.ต. ธีระวัฒน์ สุขสำราญ” และคุณแม่ “เบญจมาศ สุทธิเปรมอนันต์” แล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้การติดทีมชาติครั้งนี้มีความสมบูรณ์แบบคือ การมีชื่อติดทีมชาติร่วมกับก๊วนเพื่อนสนิทในวัยเด็ก ทั้ง “บูม” กษิดิศ สำเร็จ และ “สอง” ยุทธนา เจริญผล

“ผมว่ามันเหมือนเป็นจังหวะที่เหมาะสม ก่อนหน้านี้ ผมกับบูม เคยติดทีมชาติชุดเยาวชนร่วมกันมาแล้ว แต่กับสอง ยังไม่เคยได้ร่วมทีมกัน เพราะที่ผ่านมาด้วยจังหวะและปัจจัยต่างๆ ทั้งด้วยฟอร์มการเล่นที่ยังไม่เสถียร ฟอร์มแต่ละคนก็ยังไม่คงที่ ทำให้ไม่คิดว่าแต่ละคนจะมาติดทีมชาติชุดใหญ่ร่วมกันได้ ก็ดีใจตรงนี้ด้วยครับ ที่ได้มีเพื่อนร่วมทีมที่สนิทกันมาตั้งแต่เด็กติดทีมชาติไปรับใช้ประเทศด้วยกัน รวมถึงรุ่นพี่อีกสองคน ทั้งพี่จูเนียร์และพี่เน็ต ที่เรารู้จักเป็นการส่วนตัวอยู่แล้ว เชื่อว่าจะเต็มไปด้วยบรรยากาศที่ดีภายในทีมครับ”
ปัจจัยสำคัญที่ผลักดัน “แซค” ให้มาถึงจุดนี้คือ ใจที่ไม่เคยคิดยอมแพ้ เขาต่อสู้กับอุปสรรคและเผชิญกับคำครหาต่างๆ นานามาตลอดทั้งชีวิต จนก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญของทัพลูกสักหลาดทีมชาติไทยชุดนี้ พร้อมกับตั้งเป้าในการรับใช้ทีมชาติชุดใหญ่ครั้งแรกของตัวเองไว้ที่การคว้าเหรียญใดเหรียญหนึ่งในมหกรรมกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 31 ที่ประเทศเวียดนาม กลับมาฝากแฟนกีฬาชาวไทย รวมถึงก้าวขึ้นไปเล่นในระดับอาชีพโดยมีเป้าหมายคือติดท็อป 100 ของโลกให้ได้เร็วที่สุด

LTAT